Doris Day ตำนานแห่งวงการบันเทิงที่ยิ่งใหญ่ ผู้มีฉายาที่ชาวอเมริกันเรียกขานกันด้วยความรักและยกย่องว่า America’s Sweetheart เธอเป็นนักร้องชั้นดี มีผลงานเพลงมากกว่า 600 เพลง จากหลายอัลบั้ม เป็นดาราชั้นนำของฮอลลีวู้ด ได้รับ Oscar ในปี 2503 จากเรื่อง Pillow Talk ได้รับ Golden Globe ถึง 6 ครั้ง (ได้รับการเข้าชิง 12 ครั้ง) ได้รับ Grammy Lifetime Achievement Award และ Grammy Lifetime Hall of Fame ถึง 3 เพลง มีรายการทีวียอดนิยม ออกอากาศนาน 5 ปี ถ้าพูดถึงดอริส เดย์วันนี้ เธอไม่ใช่นักร้องรุ่นแม่ หรือรุ่นป้า เพราะวัย 97 ปี ทำให้เธอเป็นนักร้องรุ่นคุณยายทวด.

เธอมีเพลงดังมากมายนับไม่ถ้วน
จนสังกัดเพลงสามารถออกผลงานในซีรีส์ 100 Hits Legends (5 CDs set) คัดเลือกเพลงที่เธอทำให้โลกได้รู้จักมาให้ฟังกันจนเกินอิ่ม
เพลงดังของ Doris Day มีอยู่ครบ เช่น
“Secret Love” “Perhaps,
Perhaps, Perhaps”, “Sentimental Journey”, “If I Give My
Heart To You”, “Love Somebody”, “It’s Magic”, “A Guy Is a Guy”, “Bewitched,
Bothered and Bewildered”, และอีกมากมาย ในบรรดาเพลงเหล่านี้ เพลงที่รู้จักกันทั่วโลกสำหรับทุกวัยคือ “Que
Sera Sera” ซึ่งแปลว่า What
will be, will be ตรงกับสำนวนไทยว่า “อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด”
Doris Day จากโลกไปในวัย 97 ปี
ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ตรงกับวันที่ พรรคเล็ก 11 พรรค ก้าวออกมาแถลงจุดยืนของตนอย่างชัดเจนว่า
พรรคจะสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี
นั่นหมายถึงการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่นๆ ที่มีพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำ

พรรคเล็ก 11 พรรค ประกอบด้วย
- พรรคพลังชาติไทย
- พรรคประชาภิวัฒน์
- พรรคไทยศรีวิไลย์
- พรรคพลังไทยรักไทย
- พรรคครูไทยเพื่อประชาชน
- พรรคประชานิยม
- พรรคประชาธรรมไทย
- พรรคพลเมืองไทย
- พรรคประชาธิปไตยใหม่
- พรรคพลังธรรมใหม่
- พรรคไทรักธรรม
หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ กล่าวว่า หากเราไม่ตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อ ผู้เสียโอกาสคือประชาชนจึงต้องการแถลงจุดยืนให้ประชาชนได้รับทราบ ว่าทั้ง 11พรรคจะสนับสนุนให้มีรัฐบาลโดยเร็ว โดย ส.ส.ทั้ง 11คน มั่นใจว่าจะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และจะไม่ก้าวก่ายว่าพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำจะตั้งรัฐบาลแบบใด
นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ หัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์ กล่าวว่าพรรคไม่ต้องการอยู่ในวาทกรรมแบ่งฝ่ายระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตยอีกแล้ว และพรรคจะให้ความสำคัญปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นสำคัญ
การประกาศจุดยืนล่าสุดของ 11 พรรคการเมือง ซึ่งมีเสียงเพียงพรรคละ 1 เสียง ทำให้ขั้วพรรคพลังประชารัฐ เมื่อได้เสียงถึง 135 เสียงแล้ว เป็นเสียงที่มากพอจะจัดตั้งรัฐบาลเมื่อได้เสียงจาก ส.ว. อีก 250 เสียง
แต่ยังคงมีพรรคที่ยังไม่ประกาศจุดยืนอย่างเป็นทางการอีก 6 พรรค 2 พรรคสำคัญ ที่ประชาชนติดตามด้วยใจจดจ่อ เพราะเป็นตัวแปรสำคัญคือ พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยจำนวน 52 เสียง และพรรคภูมิใจไทย 51 เสียง
ในขณะที่การเดินหมากในการจัดตั้งรัฐบาล
มักใช้ข้อเสนอ “ตำแหน่งบริหารระดับสูงในคณะรัฐมนตรี” เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี
หรือกรรมาธิการ เป็นข้อต่อรอง พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย
หนึ่งในพรรค 1 เสียง กล่าวว่าการตัดสินใจสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ
อยู่บนพื้นฐานของความต้องการให้ประเทศได้เดินหน้าต่อไป ไม่มีการต่อรองเรื่องตำแหน่งบริหาร
หลังจากการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 และประชาธิปัตย์ ได้จำนวน ส.ส. แบ่งเขต
เพียง 33 เสียง อันสะท้อนความนิยมที่ตกต่ำอย่างเกินคาดคิด
จนมีการวิเคราะห์ว่ามีสาเหตุจากวาทกรรมของหัวหน้าพรรคก่อนการเลือกตั้ง แม้จะได้ ส.ส.
บัญชีรายชื่อเพิ่มมาอีก 19 เสียง แต่ประชาธิปัตย์ยังคงประสบปัญหาภายในพรรค โดยสมาชิกและกลุ่มต่างๆ
ในพรรคสะท้อนจุดยืนที่ต่างกัน ทำให้จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีการสรุป
ส่วนภูมิใจไทยนั้น วางตัวนิ่งไม่เอนเอียงไปขั้วใด แม้ว่าความเป็นมาในอดีต จากการที่พรรคภูมิใจไทยได้เคยถอนตัวจากรัฐบาลเพื่อไทยมาแล้วเพราะความแตกต่างทางทัศนะและยุทธวิธี จะเป็นปัจจัยให้พิจารณาว่า ภูมิใจไทยจะกลับไปยังจุดเดิม หรือจะวางทิศทางใหม่ ให้พรรคได้ภาพลักษณ์ใหม่ในสายตาของประชาชน และได้ฐานคะแนนเพิ่มในอนาคต
Que sera sera
Whatever will be, will be
The future’s not ours to see
Que sera sera
การวิเคราะห์ตามข้อมูลข่าวรายวันของประชาชน หรือโดยนักวิเคราะห์การเมืองผู้มีข้อมูลเชิงลึก ล้วนไม่สามารถรับประกันได้ว่าผลลัพท์ท้ายสุด จะเป็นอย่างไร แต่ในเมือผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง ได้ทำหน้าที่ของตน โดยการไปลงคะแนนเสียงแล้ว ก็คงไม่ต้องว้าวุ่นใจมาก เพราะอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด และแม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดอยู่ดี
