เวลาไปงานปาร์ตี้ มีคนร้องคาราโอเกะ เพลงรุ่นเก่าที่ทุกคนร้องตามได้ แต่มีบางคนไม่รู้จัก ถามว่าเพลงอะไร เมื่อเขาบอกว่าเป็นเพลงของสุเทพ วงศ์กำแหง แทนที่จะขอบคุณที่บอกให้รู้ ลูกหมาลูกแมวก็ตอบว่า “เกิดไม่ทัน”
เวลาได้ยินดนตรีประกอบการ์ตูน Bugs Bunny เป็นงานดนตรีคลาสสิค William Tell Overture ของ รอสซินี (Rossini) ร้องอ๋อ รู้จักสิ ได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก..คงเกิดทันใช่ไหม รอสซินี่ ตายไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1868 ผู้คนวัยต่ำกว่า 40 ปี ก็ชอบเพลง Imagine ของ John Lennon ซึ่งจากโลกนี้ไปเมื่อปี 1980 ไม่มีใครอ้างว่าเกิดไม่ทัน

คนจำนวนมาก รู้จักชื่อ มหาตมา คานธี รู้จักชื่อ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง รู้จักชื่อ เนลสัน แมนเดลล่า แต่ถ้าถามว่า บุคคลเหล่านี้มีความหมายต่อผู้คนนับล้านด้วยเหตุใด ก็อาจจะตอบไม่ได้.. เกิดทันบ้าง ไม่ทันบ้าง หรือไม่ได้สนใจ ไกลตัว
การไม่รู้จักบุคคลสำคัญ ทั้งระดับชาติหรือระดับโลก ไม่ใช่เรื่องแปลก.. แต่การไม่รู้จักแล้วเหยียดหยาม ดูหมิ่น ด่า เป็นพฤติกรรมที่แปลกประหลาด
การจากไปของรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สร้างความอาลัยให้กับคนไทยหลายล้านคน ด้วยคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างไว้ให้กับประเทศ ทั้งด้านโครงสร้างของสังคม เศรษฐศาสตร์และความมั่นคง โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่หากก้าวพลาด จะนำประเทศไปในทิศทางที่มืดมิด จนไม่อาจมีปัจจุบันอย่างที่เห็น นั่นคือการให้โอกาสผู้ที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ให้ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้ง และผู้ที่ได้รับโอกาสดังกล่าวมากมาย ได้ช่วยพัฒนาประเทศ ในสาขาวิชาการต่างๆ ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพจากสังคม
แต่ถึงกระนั้น ได้เกิดกระแสดูหมิ่น เย้ยหยัน บางครั้งด้วยถ้อยคำหยาบคาย และให้ข้อมูลบิดเบือน เกี่ยวกับ พลเอกเปรม ทางโซเชียลมีเดีย ส่วนหนึ่งเป็นฝีมือของกองทัพไซเบอร์ ที่เปรียบเสมือนฝูงสุนัขที่รับจ้างด่า ฝูงสุนัขล่าเนื้อเหล่านี้ทำได้ทุกอย่างให้ได้เงิน ดังนั้นจริงๆ แล้ว การโจมตีจากกลุ่มนี้ จึงไม่ได้มีราคาใดๆ
ส่วนอีกกลุ่ม ก็เป็นพวกเกิดไม่ทัน โตไม่ทันในยุคสมัยที่ทำให้คนไทย ได้รู้จักชื่อ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่ต้องการอยู่ฝ่ายที่มีพฤติกรรมขบถในทุกเรื่อง เห็นเขารุมด่ากัน ก็ร่วมวงด้วย เป็นพฤติกรรมที่ห่างไกลจากความเป็นปัญญาชน
และที่แปลกที่สุดคือ มีคนที่เกิดทันยุคที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและนักศึกษารุนแรงสูงสุด ยุคสมัยที่ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยกว้างที่สุด ยุคสมัยที่อำนาจรัฐกลายเป็นอภิสิทธิของคนบางกลุ่ม ได้เห็นความเป็นไปของสังคมด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นนักเขียนระดับศิลปินแห่งชาติ ได้ออกมาร่วมโจมตีรัฐบุรุษและประธานองคมนตรี อย่างไม่สนใจต่อข้อมูลจริง พฤติกรรมดังกล่าว อาจมีแรงจูงใจที่จะโจมตีรัฐบาล โจมตีสถาบัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ขาดกาลเทศะ และบ่งบอกถึงความบกพร่องทางวุฒิภาวะ และอาการทางสมองน่าเป็นห่วง

เวลาที่เราได้พบเห็น อนุสาวรีย์ ที่สดุดีผู้ที่ทำความดีให้กับประเทศชาติ สังคม ถ้าเราไม่รู้จัก แต่มีสติ เราย่อมตระหนักว่า บุคคลที่มีอนุสาวรีย์ให้จดจำเหล่านี้ ย่อมได้สร้างความดีต่อส่วนรวมไว้ แม้เราอาจจะไม่รู้ว่าเขามีผลงานอะไรบ้าง
หรือแม้แต่อนุสรณ์สถานของผู้ที่เสียชีวิตในฐานะผู้บริสุทธิ์ในเหตุการณ์ร้ายแรงหรือมีความหมายทางจิตใจต่อสังคม หากพาเด็กวัย 10 ขวบไปอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เด็กก็คงไม่รู้จัก แต่อยู่ดีๆ ถ้าเด็กพูดอะไรไม่ดี พ่อแม่ก็ควรให้ข้อมูลอย่างย่อให้เหมาะกับระดับความเข้าใจของเด็ก เพื่อให้เด็กได้เกิดสำนึกอันเป็น อารยชน
ความเป็นอารยชนครอบคลุมความคิด สำนึก และพฤติกรรมหลายประการ ประการหนึ่งที่สังคมมนุษย์ยึดถือคือ การให้เกียรติ หรือให้ความเคารพ
คำว่า respect นั้น บ่งบอกถึงความมีอารยะ อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการให้เกียรติสถานที่ ให้เกียรติวัยวุฒิ ให้เกียรติอาชีพ คนอายุน้อยไม่ว่ามาจากวัฒนธรรมใด ที่ก้าวร้าวและหยาบคายกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ย่อมไม่ใช่อารยชน คนที่ดูถูกแม่ค้าในตลาดสด หรือพนักงานทำความสะอาดถนน แม้จะมีการศึกษาสูง มีรายได้สูง ย่อมไม่ใช่อารยชน

การได้ไปเยือนอนุสรณ์สถาน Ground Zero แม้จะไม่ได้มีเพื่อนหรือญาติ
ที่จากไปในเหตุการณ์ 9/11 ผู้เป็นอารยชน ย่อมให้เกียรติแก่สถานที่ และวิญญาณของผู้บริสุทธิที่จากไป
เช่นเดียวกับการไปเยี่ยมชม Vietnam Veterans Memorial ใน Washington DC ไม่ว่าจุดยืนทางการเมืองเราจะเป็นอย่างไร การให้เกียรติผู้ปฎิบัติหน้าที่ในสงคราม
เป็นสิ่งที่สะท้อนจิตใจอารยะของเรา
การให้เกียรติเป็นสำนึกที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ มนุษย์ยังให้เกียรติธรรมชาติ เพราะอำนาจของธรรมชาติให้คุณให้โทษแก่มนุษยชาติได้ มนุษย์จึงได้สร้างที่อยู่อาศัยเพื่อปกป้องตนเอง
การให้เกียรติแก่ผู้อื่น ย่อมนำมาซึ่งการได้รับเกียรติ หรือความเคารพกลับมายังตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการให้เกียรติด้วยคำพูด ตัวอักษร หรือกริยาท่าทาง
Respect given is respect earned.
เจอรัลด์ โมทอนดิ (Gerald
Motondi) เป็นประติมากร
ชาวเคนยา ที่ผลงานที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก มีผลงานแสดงในพิพิธภัณฑ์
และคอลเลคชั่นส่วนตัวกว่า 18 ประเทศ
งานประติมากรรม ของโมทอนดิ เป็นงานแนวแอบสแตร็ค และส่วนใหญ่ที่เป็นบุคคล จะไม่ระบุใบหน้าว่าเป็นใคร เพราะโลกไม่ได้จดจำมนุษย์ที่ใบหน้า แต่จารึกไว้ซึ่งความดี
งานประติมากรรมในภาพ โมทอนดิ สร้างขึ้นเพื่อร่วมฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งอิสรภาพของเคนยา ในปี 2013 งานแต่ละชิ้น ตั้งชื่อเพื่อเล่าเรื่องความกล้า ความปรารถนา อุดมการณ์ และจิตใจของคนในชาติ
• The Heroes Move ลีลาแห่งผู้กล้า
• Desire to Be ปรารถนาที่จะเป็น
• Manifestation of Achievement โฉมหน้าแห่งความสำเร็จ
• Love for the Nation ความรักเพื่อชาติ
• Souls of Peace จิตวิญญาณอันสงบสุข
รูปปั้นเหล่านี้ สะท้อนเรื่องราวของ “ป๋าเปรม” และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่นกัน