Decency คือการปฎิบัติตัวตามมาตรฐานของสังคม ทั้งเรื่องกริยามารยาท การใช้คำพูด และการวางตัวให้เหมาะกับกาลเทศะ เป็นการเคารพต่อกฎระเบียบ ในสถานการณ์ สถานที่ และโอกาส กฎระเบียบต่างๆ สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้เกิดความเรียบร้อย ป้องกันการเอาเปรียบผู้อื่น และลดความแตกต่าง
Picasso ได้กล่าวไว้ว่า “Learn the rules like a pro, so you can break them like an artist” จงเรียนรู้กฎอย่างมืออาชีพ เพื่อที่จะแหวกกฎได้อย่างศิลปิน. แม้ว่าคำกล่าวของปิคาสโซ่ ตีความอย่างพื้นๆ อาจจะหมายถึง “ช่างเขียนภาพ” หรือจิตรกร แต่สาระยังครอบคลุมไปถึงศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น ดนตรี ประติมากรรม งานหัตถกรรมทุกระดับ ยิ่งกว่านั้น ยังรวมถึงสาขาอาชีพทั่วๆ ไปในชีวิต เช่น ครู นักธุรกิจ นักการตลาด
Dress Code คือลักษณะการแต่งกาย ที่กำหนดไว้เพื่อให้เหมาะกับงานเลี้ยง งานประชุม งานพิธีการ งานแต่งงาน การไปโบสถ์วันอาทิตย์ การไปทำบุญที่วัดพุทธ งานศพ และโอกาสต่างๆ เช่นช่วงไว้อาลัย ช่วงถือศีล เพราะการแต่งกายตาม dress code เป็นการให้เกียรติแก่งาน และผู้ร่วมงาน ด้วยเหตุนี้ ในการใช้ชีวิตประจำวัน ชาวคริสต์ที่ไปโบสถ์ในวันอาทิตย์ จึงแต่งกายเรียบร้อย ดูสะอาด สุขุม เพื่อสะท้อนอารมณ์ร่วมกัน ชาวพุทธก็ไม่ต่างกัน คนสูงอายุรุ่นเก่า ใส่ผ้าซิ่นทอลายผืนสวย ใส่เสื้อผ้าลูกไม้ หรือผ้าไหม คนหนุ่มสาวแต่งกายสุภาพ หรือแต่งชุดไทย เพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่และพิธีทางศาสนา

“A lack of boundaries invites a lack of respect” การไม่รู้ขอบเขต คือการปิดกั้นความเคารพจากผู้อื่น
ในงานสัมมนาเราจะเห็นเข้าร่วมประชุม ใส่สูทสีเข้ม เสื้อสีสุภาพทั้งชายและหญิง แม้บัตรเชิญและเอกสารเชิญเข้าร่วมงานจะไม่ได้ระบุ dress code ไว้ในบัตรเชิญหรือจดหมายเชิญ ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่ที่มีประสบการณ์ในการทำงาน หรือเข้าร่วมประชุม จะรู้ว่าการแต่งตัวที่เหมาะสมกับกาลเทศะจะทำให้ได้รับความนับถือจากผู้อื่น
นักเรียนมัธยมปลายที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ในวันสอบสัมภาษณ์ ใส่เครื่องแบบนักเรียน หรือแต่งกายสากลสุภาพ อาจจะเป็นกางเกงสแล็คขายาวและเสื้อเชิร์ตสีอ่อน เพื่อให้ตนเองดูน่าเชื่อถือต่อกรรมการสอบสัมภาษณ์ ไม่มีใครคิดว่าตนมีคะแนนสอบสูง สามารถจะใส่กางเกงขาสั้น เสื้อยืดคอกลม และรองเท้าฟองน้ำ ไปสอบสัมภาษณ์ได้
ไม่มีใครใส่ชุดดำไปร่วมงานมงคลสมรส และไม่มีใครใส่เสื้อผ้าสีแดง หรือสีสดอื่นๆ ไปร่วมงานศพ
ผู้บริหารระดับสูงของบริษัททั้งสตรีและบุรุษ ใส่สูทสากลตลอดเวลา พร้อมที่จะพบกับบุคคลสำคัญ ทั้งนักธุรกิจ สื่อมวลชน พาร์ทเนอร์ธุรกิจ ผู้บริหารระดับรอง และลูกค้า
การแต่งกายดังกล่าว ในบางสถานการณ์ไม่มีใครบังคับ ไม่มีเอกสารแจ้งเตือนว่า dress code คืออะไร แต่ทุกคนทราบ dress code ที่เหมาะกับสถานะของตน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตน และจุดมุ่งหมาย และที่สำคัญยิ่งคือ เป็นการให้เกียรติอาชีพ และสถานภาพของตน
แนวปฎิบัติเหล่านี้ เป็นตัวชี้ว่า การวางตัวให้เหมาะสม (decency) และ การแต่งกายให้เหมาะสม (dress code) สัมพันธ์กันและอยู่คู่กัน
สังคมไทย เป็นสังคมผ่อนปรน คนไทยยังอนุโลมเรื่องการแต่งกายไม่เหมาะสมในหลายสถานการณ์ โดยยกประโยชน์ให้แก่ผู้ที่แต่งกายไม่เหมาะสม เช่น พยายามหาสาเหตุอธิบายว่า เมืองไทยเป็นเมืองร้อน หรือการจราจรติดขัดจนไปเปลี่ยนเสื้อผ้าไม่ทัน หรือได้รับแจ้งเรื่องงานที่ต้องมาร่วมแบบฉุกเฉิน (short notice) และยังมีช่องว่างของความแตกต่างทางวัฒนธรรมสังคม เช่นแนวปฎิบัติสากลและแนวปฎิบัติไทย หรือสังคมชนบทกับสังคมมหานคร จึงอาจมองข้ามเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก
Poison Fashion
สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภาไทย จนกลายเป็นข่าวร้อนในทุกสื่อ และเกิดกระแสต่อต้านที่แรงที่สุดกระแสหนึ่ง เป็นสิ่งที่ควรนำมาทบทวนว่า การแต่งกายไม่เหมาะสมเป็นเรื่องเล็กหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องเล็ก เหตุใดจึงสร้างความเสียหายให้กับผู้เป็นข่าว ทำให้เกิดการติดตาม ขุดคุ้ย จนภาพลักษณ์และบุคลิก ถูกตีตราอย่างถาวร และการล้างมลทินอาจจะต้องใช้เวลาอีกยาวนาน ความรู้สึกในทางลบจากสาธารณชน กลายเป็นแผลฉกรรจ์ในภาพลักษณ์ และถูกจับจ้องในเรื่องอื่นๆ ตามมา
สื่อหลักที่พยายามออกมาช่วย โดยการนำเสนอการแต่งกายของนักการเมืองสตรี ในต่างประเทศในการประชุมรัฐสภา ด้วยเจตนาที่จะสะท้อนเสรีภาพของสมาชิกรัฐสภาในต่างแดนให้เห็น แต่ภาพต่างๆ ที่นำมาเสนอนั้นสะท้อนถึงการไม่เข้าใจในบริบทของการแต่งกาย เพราะในสถานการณ์ปกติ ที่ไม่อยู่ในช่วงแสดงการไว้อาลัย สมาชิกรัฐสภาของไทย ก็แต่งกายด้วยสีสันต่างๆ เช่นกัน ผู้ชายก็ใส่เนคไทหลากสี สตรีก็ใส่แฟชั่นทันสมัยมีสีสัน เมืองไทยได้เห็นนักการเมืองใส่สูทสีแดงเข้าประชุมมาแล้ว หรือการแต่งกายสะท้อนสัญลักษณ์ของตนอย่างเนียนๆ ด้วยเนคไทสีเลือดนก หรือสีชมพู แต่สังคมก็ไม่ได้เอาเรื่องไปมากกว่าการวิจารณ์รสนิยมการแต่งกาย

การแต่งกายที่ไม่ทำตามกฎระเบียบ ที่ได้แจ้งไว้ในเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น หากมีเจตนาที่จะสร้างความเด่นให้ตนเอง ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมาย แต่ความโดดเด่นนั้นไม่ได้จบในพื้นที่ของการประชุมรัฐสภา ความเด่นนั้นกลายเป็นยาพิษติดตัวสลัดไม่หลุด
หากไม่ได้มีเจตนาสร้างความเด่น แต่ต้องการแสดงให้สังคมได้เห็นว่า เป็นเสรีชน ไม่จำเป็นต้องเคารพกฎเกณฑ์ของส่วนรวม จะยิ่งบอกอะไรได้มากกว่าการอยากแต่งตัวสวยโดยลืมกาลเทศะ
Rebellion Against Authority การขบถต่ออำนาจ
ในทางจิตวิทยา ผู้ที่ไม่เคารพกฎเกณฑ์อันเป็นมาตรฐานของกลุ่ม อาจถูกมองว่าเป็นผู้มีความกล้า มีความคิดสร้างสรรค์ แต่หากเป็นกฎเกณฑ์อันเป็นมาตรฐานของสังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวม ผู้ที่ไม่ปฎิบัติตามกฎเช่นผู้อื่น อาจต้องการแสวงหาความสนใจ (attention seeker) ต้องการให้ความมีตัวตนปรากฎชัด และย้ำว่าตนนั้นมีอำนาจ สามารถละเลยกฎระเบียบได้ หรือต้องการพิสูจน์ให้บุคคลใด หรือกลุ่มใด เกิดความประทับใจ ว่าตนนั้นเป็นผู้ไร้ความกลัว
แต่การไม่ปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ยังหมายถึงการขาดความมั่นใจในตนเอง และมองว่า การต้องทำตามคำสั่ง เป็นการสูญเสียอำนาจการควบคุม
ในกรณีที่กฎระเบียบนั้น เป็นมาตรฐานของส่วนรวม เพื่อภาพลักษณ์โดยรวม แต่ไม่ต้องการร่วมมือ ความรู้สึกเป็น “ขบถ” เกิดขึ้นเพราะมองเห็นว่ากฎระเบียบเป็นรูปแบบของอำนาจ จึงมีสัญชาติญาณต่อต้านอำนาจนั้น สัญชาติญาณเช่นนี้อาจพัฒนาขึ้นมาจากครอบครัว เช่นเด็กที่ถูกพ่อแม่บังคับตลอดมา ตีกรอบเรื่องความคิดให้ตั้งแต่เด็ก หรือเกิดจากประสพการณ์ในโรงเรียน ที่ถูกครูพูดจาถากถางไม่เชื่อในความสามารถ หรือจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ที่ผู้บังคับบัญชาไม่ยอมรับความคิดเห็น หรือต้องทนกับระเบียบของบริษัท ที่ไม่อาจฝ่าฝืนได้ เพราะจะโดนลงโทษ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสที่จะขัดขืน ในสถานการณ์ที่ไม่มีการลงโทษ จึงต้องแสดงออกโดยจิตใต้สำนึก มองข้ามกาลเทศะ ไม่ใยดีต่อความรู้สึกส่วนรวมที่แสดงความเคารพหรือไว้อาลัย แม้จะโดยมารยาทเท่านั้นก็ตาม.
Ralph Waldo Emerson กวี และปราชญ์ ผู้ได้รับการยกย่องในด้าน อุตรวิสัยหรือแนวคิดเหนือธรรมชาติ (transcendentalism) ผู้สนับสนุนความเป็น ปัจเจกชน ได้กล่าวไว้ว่า “Men are respectable only as they respect” ปุถุชนจะได้รับความเคารพต่อเมื่อรู้จักให้ความเคารพ