ความเป็นหน้าใหม่ หรือมือใหม่ ไม่ใช่เรื่องผิด มนุษย์ในทุกเส้นทางอาชีพ ไม่ว่าจะเริ่มต้นในตำแหน่งเล็ก หรือตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ล้วนเป็นหน้าใหม่ในองค์กร และต้องเรียนรู้ทั้งวัฒนธรรมองค์กร และองค์ความรู้ของธุรกิจ เพื่อที่จะปรับทัศนะและความรู้ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพต่อองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อความก้าวหน้าของตนเอง
แต่หากเป็นหน้าใหม่ แล้วฝังตัวเองอยู่กับความมั่นใจที่ไร้ศูนย์ถ่วง อีกทั้งยังขาดทั้งโลกทัศน์ ขาดสำนึกที่จะต้องขวนขวายหาความรู้ ก่อนออกมาท้าทาย รีบแสดงความคิดเห็นด้วยความด้อยข้อมูล “หน้าใหม่” ย่อมกลายเป็น “หน้าแตก”
Green Meeting for a Greener World การประชุมสีเขียวเพื่อโลกที่น่าอยู่กว่าเดิม
เรื่อง green meeting ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการปฎิบัติในเมืองไทย มาตั้งแต่แนวคิดเกิดขึ้น เป็นธรรมดาที่ผู้มีอาชีพเช่นแม่ค้าในตลาดสด หรือแรงงานรายวัน จะไม่รู้จักเรื่องของ “การประชุมสีเขียว” เพราะการประชุม ไม่ได้อยู่ในบริบทของชีวิตประจำวัน แต่ผู้ที่อยู่ในสายงานที่มีการประชุม สัมมนา และจัดนิทรรศการ อาจมีโอกาสได้สัมผัสการจัดงานในแนว green meeting มาบ้าง
Green meeting เป็นรูปแบบของการจัดประชุม สัมมนา ฝึกอบรม โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญในขั้นตอนต่างๆ ของการจัดประชุม สัมมนา ฝึกอบรม และการจัดนิทรรศการหรือ มหกรรม green meeting เป็นแนวทางที่ยึดถือกันมานานกว่า 10 ปี จนกระแสมีพลังมากขึ้น และมีการนำไปปฎิบัติในทุกระดับ ตั้งแต่การประชุมในออฟฟิศขนาดเล็ก ในโรงเรียน และมหาวิทยาลัย องค์กร บริษัทเอกชน และการประชุมระดับนานาชาติ
เฟซบุ้ค facebook.com/ASEAN2019TH ได้ลงสเตตัสไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 ว่า “ตลอดปี 2562 นี้ กระทรวงการต่างประเทศ จะจัดการประชุมอันเกี่ยวเนื่องกับอาเซียน ในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Meeting เพื่อรณรงค์เรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของประเทศไทย” (https://www.facebook.com/ASEAN2019TH/)

Green Meeting in Thailand การประชุมสีเขียวในประเทศไทย
แนวทางในการจัด green meeting ได้ตีพิมพ์ไว้ใน Green Meeting Guide โดยโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) ในปี 2009 และในปีเดียวกันนั้น ในประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ได้เริ่มโครงการ กรีน มีตติ้ง (Green Meetings)หรือการจัดประชุมสัมมนาและการจัดงานแสดงสินค้าแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผ่านงานสัมมนาในหัวข้อ “Green Meetings: Advancing the Future of MICE” โดยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม MICE (Meetings, incentives, conferencing, exhibitions) กว่า 100 บริษัท เข้าร่วมงาน โดย สสปน. ได้จัดทำคู่มือแนวการปฏิบัติที่ดีด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Meetings Guideline) สำหรับอุตสาหกรรมการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการ เพื่อนำไปปฏิบัติ
ยิ่งกว่านั้น ในช่วงที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development: TBCSD) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้จัดทำโครงการ TBCSD Green Meetings ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนำแนวทางการจัดประชุมสีเขียว ในองค์กร (Green Meetings) ไปประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรที่เข้าร่วมโครงการและนำแนวทางการจัดประชุมสีเขียวดังกล่าวไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมจะได้รับการรับรอง Green Meetings Certification จากองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และมีองค์กรเข้าร่วมกว่า 150 องค์กร เช่น ปตท. จำกัด, บางจากปิโตรเลียม, ดับเบิ้ลเอ (1991), น้ำตาลมิตรผล, ข้าวซีพี, ซีพีอินเตอร์เทรด, สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, ศรีไทยซุปเปอร์แวร์, คูราชิกิสยามรับเบอร์, ไบเออร์ไทย, สยามแมคโคร, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงไทย, ปูนซิเมนต์นครหลวง, ปูนซิเมนต์ไทยจำกัด และรอยัลพารากอนเอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นต้น
Why Green Meetings ทำไมต้องเลือกการประชุมสีเขียว
แรงบันดาลใจที่ขับเคลื่อนให้เกิด green meeting เกิดจากความห่วงใยต่อผลกระทบ ทีเกิดจากการประชุม สัมมนา ทุกรูปแบบ ทุกขนาดทั่วโลก ที่ทำลายสภาพแวดล้อมอย่างมหาศาล นับตั้งแต่การเดินทางไปร่วมประชุม การปรับอากาศสถานที่ การผลิตวัสดุและเอกสารสำหรับผู้เข้าร่วมประชุม การจัดเลี้ยงดูแล การใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ และการทำให้เกิดขยะ เมื่อประเมินถึงการประชุมที่เกิดขึ้นทุกนาทีทั่วโลก ความเสียหายต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จึงมากมายเกินจะคำนวณได้
ดังนั้นแนวปฎิบัติของ green meeting จึงคำนึงถึงการใช้ทรัพยากร เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และแนวทางได้ครอบคลุมหลากมิติ เช่นลดการใช้กระดาษ เริ่มตั้งแต่บัตรเชิญ เอกสารประกอบการประชุม โดยเปลี่ยนเป็นรูปแบบไฟล์ดิจิทัลแทน และหากจำเป็นต้องใช้กระดาษ ก็จะใช้กระดาษรีไซเคิล การสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษรใช้อีเมล์ และระบบ e-office เท่านั้น

เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน ห้องสัมมนาจะปรับอุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส และผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับคำแนะนำล่วงหน้าว่า “งดใช้เสื้อสูทและเสื้อนอกระหว่างการประชุม”
ในเรื่องของการจัดเลี้ยง จะจัดมุมอาหารและเครื่องดื่มไว้ตามจุด โดยผู้ร่วมสัมมนาจะบริการตนเอง เพื่อลดการใช้ทรัพยากรมนุษย์จำนวนมาก น้ำดื่มจะจัดใส่เหยือก และใช้แก้วแทนการเสิร์ฟน้ำขวดพลาสติก ในการจัดเลี้ยงอาหารจะลดปริมาณภาชนะ และงดใช้ภาชนะพลาสติกหรือโฟมอย่างเด็ดขาด
และยังมีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของการจัดประชุม ที่ต้องพิจารณาในรายละเอียด และสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภาพใหญ่ เช่นเลือกโรงแรมที่เดินทางได้สะดวก เพื่อประหยัดพลังงานจากการเดินทางของผู้เข้าประชุม และเป็นโรงแรมที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้สารเคมีในการซักล้างทำความสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดประชุม ASEAN ในเมืองไทย ในฐานะเจ้าภาพและประธานอาเซียน ภายใต้แนวทาง green meeting นั้น ได้มีการแถลงให้ประเทศสมาชิกทราบล่วงหน้า และได้รับการเห็นด้วยและยกย่องจากหลายฝ่าย เป็นการสืบทอดแนวทางซึ่งสิงคโปร์ ได้นำทางไว้ในการประชุมอาเซียนเมื่อปีก่อน โดยการลดการใช้กระดาษ และใช้เอกสารดิจิทัลแทนเกือบทั้งหมด จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 50-100 คน หากยังคงใช้กระดาษเช่นเดิม จะมีปริมาณกระดาษจากเอกสารต่างๆ ประมาณ 3-4 ล้านแผ่น หรือเท่ากับตัดต้นไม้ 250-500 ต้น และพลังงานที่ใช้ผลิตกระดาษ จะทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ 100-200 ตัน
Gestures of Environment Awareness สัญลักษณ์แห่งสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ในการประชุมระดับสุดยอด ผู้เข้าร่วมประชุมล้วนเป็นบุคคลสำคัญ ดังนั้น แนวทาง green meeting จึงยึดแนวทางปฎิบัติหลักๆ ในส่วนของการประชุม ในมิติอื่นๆ เช่นที่พักและการต้อนรับ ยังคงต้องให้เกียรติต่ออาคันตุกะ วางตนเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับขับสู้ให้ความสะดวกสบายที่คู่ควรต่อตำแหน่ง และจัดมาตรการรักษาความปลอดภัยอันเข้มงวด แม้การปฎิบิตตามแนวทางของ green meeting จะถูกจำกัดอยู่ในห้องประชุม แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจน ว่า ASEAN ตระหนักในเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกัน พร้อมเพรียงกัน
ด้วยสำนึกที่มีร่วมกันดังกล่าว การใช้เก้าอี้กระดาษ ที่อาจมองดูไม่สวยงาม และนั่งไม่สบายเช่นเก้าอี้เคลือบโครเมี่ยม มีผ้าสีขาวหุ้ม ถังขยะกระดาษลัง วัสดุและวัตถุที่ “ประหยัดทรัพยากร” ต่างๆ ในการประชุม จึงเป็น “สัญลักษณ์ของการรวมพลังแห่งสำนึก” สำหรับประชาคม ที่มีจุดมุ่งหมายในด้าน เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม จากความร่วมมือที่มีต่อกัน
การจัดประชุมในแนวทาง green meeting เมื่องานเสร็จสิ้น จะลดขยะให้ได้มากที่สุด ข้าวของที่รีไซเคิลได้ รียูส ได้จะถูกนำไปใช้ในงานประชุมอื่นๆ หรือส่งให้หน่วยงาน หรือองค์กรอื่นนำไปใช้
Green and Gullible อ่อนหัดและเชื่ออย่างไร้ข้อมูล
การที่นักการเมืองหน้าใหม่ ออกมากล่าวเหน็บแนมว่า การใช้เก้าอี้กระดาษ เป็นการสร้างขยะเพิ่มนั้น บ่งบอกถึงลักษณะสะเพร่า ที่ไม่ค้นคว้าข้อมูลก่อนที่จะให้ความเห็นต่อสื่อมวลชน เก้าอี้กระดาษเป็นนวัตกรรมจาก SCG ที่ได้เปิดตัวไปแล้วในการประชุม ASEAN SUMMIT 2019 ที่เชียงใหม่เมื่อต้นปี 2019 การเกาะกระแส Green Peace ตำหนิเรื่องเก้าอี้สร้างขยะ โดยไม่ศึกษา เป็นพฤติกรรมฉาบฉวย และไม่ใฝ่หาข้อมูล อีกทั้งยังวิจารณ์ว่าจัดประชุมอย่างไร ไม่มีล่ามแปลให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ผู้เข้าร่วมประชุมและสื่อ ใส่ headphone หรือ earphone ที่ฟังการแปลในภาษาที่ต้องการ และปรากฎให้เห็นชัดเจนจากสื่อภาพเช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และโซเชียลมีเดีย ดูเหมือนจะฟังข้อมูลอะไรมา ก็เอามาสร้างประเด็นโดยไม่กังวลว่าข้อมูลมีความจริงหรือไม่


พฤติกรรมดังกล่าว ไม่ต่างจากการที่วิพากษ์ว่า ASEAN ควรปรับแนวทางให้พ้นกรอบที่วางไว้ในอดีต และให้คำแนะนำที่เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก เพราะด้อยซึ่งความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นมาและปฎิญญา ASEAN
Be humble or have a very long, hard climb.
ถ้าหากไม่ปรับทัศนะ ปรับพฤติกรรม และใช้ความ “ถ่อมตน” เป็นใบเบิกทาง เส้นทางอาชีพนักการเมือง จะเป็นเส้นทางที่ยาวไกลและเต็มไปด้วยอุปสรรค
จากนักการเมืองหน้าใหม่ จะต้องเป็นนักการเมืองหน้าแตก ตลอดไปเช่นนั้นหรือ?
