Take a look at yourself and make a change

สาวน้อยวัย 16 ปี ถักเปียแบบพจมาน สว่างวงศ์ ณ บ้านทรายทอง มีชื่อเสียงระดับโลกมาอย่างน้อย 2 ปี Greta Thunberg จากสวีเดน เดินทางไปอเมริกา น้องอธิบายความต่อผู้นำโลก ที่ U.N. climate summit ด้วยความเกรี้ยวกราด ตำหนิรัฐบาลต่างๆ ที่ล้มเหลวในการแก้ความวิกฤตภูมิอากาศของโลก ผู้คนทั้งในอเมริกาและจากทวีปต่างๆ ก็พร้อมใจกันเคลื่อนไหว แต่มันเป็นการขยับตัวตามดารา หรือว่า มีจิตสำนึกจริง?

เกรต้า เป็นไอคอนเรื่อง การปกป้องภูมิอากาศโลก โดยเป้าหมายกลุ่มแรก คือเด็กและเยาวชน ผู้ที่อยู่ในวัยใกล้เคียง ที่จะทำตามฮีโร่ในวัยเดียวกัน ถ้าผู้นำการรณรงค์เป็นลุงป้า หรือนักวิชาการ นักอนุรักษ์ผู้ใหญ่ คงไม่เกิดกระแสแรงเท่า ส่วนผู้ใหญ่ก็ชื่นชมคนอายุน้อยที่กล้าออกมาเคลื่อนไหวเพื่อคุณภาพชีวิตของพลเมืองโลก

การช่วยกันปกป้องภูมิอากาศ หรือ Climate Change ของโลกเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน กรณีสำคัญคือเรื่อง Carbon Footprint รอยประทับของคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก เพราะทุกกิจกรรมที่มนุษย์ทำนั้น ล้วนทำให้เกิดคาร์บอน ไม่ว่าจะการเผาขยะ การใช้ไฟฟ้า ทีผลิตจากน้ำมัน หรือถ่านหิน การขนส่ง การใช้รถยนต์ รถประจำทาง การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ การก่อสร้าง ไปจนถึงการเลี้ยงสัตว์ (วัว หมู ไก่)  ด้วยเหตุนี้ ร้านอาหารมังสวิรัต จึงพูดได้ว่าร้านของเขาไม่ทิ้งรอยประทับคาร์บอน แต่ร้านก็ยังเปิดไฟ เปิดแอร์ ใช้เตาหุงต้ม หรือใช้ตู้เย็นเก็บอาหาร…

การที่พนักงานจากซิลิคอน แวลลีย์ และบริษัทอย่าง Google, Amazon, Twitter ผละงานออกมาร่วมชุมนุมตามถนน บอกให้บริษัทของตน เลิกดำเนินธุรกิจกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จึงมีความย้อนแย้งในตัว พวกพนักงานเหล่านี้ ขาดมือถือได้ไหม แล้วเดินทางมาทำงานได้อย่างไร  ถ้าขึ้นรถเมล์แล้วลงป้ายรถเมล์ที่ใกล้ที่สุด ยังต้องเดินหลายกิโลเลยกว่าจะถึงซิลิคอนแวลลีย์

ในออสเตรเลีย ผู้บริหารของรัฐบาล บอกกลุ่มคนที่ออกมาสไตรค์เรื่อง climate policy ว่า “ไม่ต้องมาสไตรค์ ไปช่วยกันปลูกต้นไม้ก็ช่วยเรื่องอนุรักษ์สภาพภูมิอากาศแล้ว”

เรื่องอนุรักษ์โลก นอกจากเรื่องก๊าซเรือนกระจก ก็ยังรวมถึงการประหยัดทรัพยากรต่างๆ การไม่ใช้โฟม หรือพลาสติกใช้ครั้งเดียว แต่การเคลื่อนไหวเหล่านี้ ต้องอยู่ในบริบทของ การปฎิบัติจริงได้ (practicality) เพราะสิ่งที่เป็น “อุดมการณ์” ไม่ใช่ว่าจะปฎิบัติจริงได้เสมอไปในวิถีชีวิตปัจจุบัน และเมื่อปฎิบัติจริงไม่ได้ ก็จะไม่มีใครทำ

ประเทศญี่ปุ่น แม้จะมีการเคลื่อนไหวเรื่องการประหยัดการใช้วัสดุ แต่ญี่ปุ่นยังใช้โฟมและพลาสติก ทั้งถุง กล่อง ห่อ แก้วเครื่องดื่ม กล่องเบนโตะ เหมือนเป็นปกติ เพราะ packaging เป็นสิ่งสำคัญทั้งในแง่การตลาดสำหรับคนญี่ปุ่่น มีผลต่อการรับรู้ ต่อจิตใจ presentation คือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความใส่ใจ ความเคารพ การให้เกียรติ

แต่ญี่ปุ่นมีการจัดการเรื่องขยะ อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง  โดยสามารถรีไซเคิลได้มากกว่า 80% ขยะที่เหลือนำไปผลิตเป็นพลังงาน ประสิทธิภาพภาครัฐ (และเอกชน) ในการจัดการขยะนั้นเริ่มต้นที่วินัยของประชาชน ที่แยกขยะอย่างตั้งใจ กลายเป็นสำนึกมายาวนาน และเมื่อถึงมือภาครัฐ ก็จัดการได้จนเหลือขยะตกค้างในสภาพแวดล้อมน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ญี่ปุ่นยังคงใช้แก้วเครื่องดื่มพลาสติก ใช้หลอดดูด ใช้กล่องโฟมพิมพ์ลายไม้สวยงามหนาและแข็งแรงจนนึกว่าไม้จริง หรือพิมพ์จนเหมือนภาชนะทำด้วยแลคเกอร์ลงลายทอง  ยิ่งกว่านั้น อาหารในกล่องเบนโตะ ยังประดับด้วยใบไม้หรือหญ้า ที่เรียกว่า บะรัน (baran หรือ ฮะรัน haran) แต่ทำด้วยพลาสติกสีเขียวสด แซมไว้ใน ซูชิ และซาชิมิ และยังมีบะรันที่ตัดเป็นรูปลวดลายต่างๆ เช่นดอกไม้ ผีเสื้อ เลียนแบบใบไม้หลากชนิด ใช้กันแพร่หลาย เพราะใบไม้ หรือใบผักจริง มีราคาแพง ปริมาณของบะรันที่ใช้ทั้งประเทศในแต่ละวันนับได้เป็นตัน แต่ไม่ได้มีการต่อต้าน เพราะระบบการกำจัดขยะพลาสติคมีประสิทธิภาพ ไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม แม้ว่าการทำลายพลาสติกและขยะจะยังมีผลกระทบในด้านมลภาวะ แต่การจัดการอย่างมีระบบถือว่ายังรับได้

ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในญี่ปุ่น ไม่แจกถุงใส่ของในซุปเปอร์มาร์เก็ต ถ้าไม่มีถุงต้องซื้อ ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียว และถุงที่ได้ยังเป็นถุงกระดาษไม่มีหูหิ้ว ต้องอุ้ม เหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตในอเมริกา ที่ใช้ถุงกระดาษอุ้มกลับบ้านมานานแสนนาน หากซื้อสินค้าอื่นเช่นเสื้อผ้า ของใช้ ก็ใส่ถุงกระดาษให้ เป็นถุงกระดาษอย่างดีสวยงาม ซึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ได้อีกเพื่อใส่ของไปให้ผู้อื่น ดูดี และให้เกียรติผู้รับ

เมื่อ 60 ปีก่อน เมืองไทยใช้หลอดดูด ทำด้วยกระดาษ หลอดพลาสติกเป็นของหรู ตามสภาวะทรัพยากรพลาสติคและเทคโนโลยีสมัยนั้น การใช้หลอดดูด ไม่ใช่เรื่องที่เลี่ยงได้ การดื่มเครื่องดื่มเย็นจัดใส่น้ำแข็ง ด้วยการดื่มจากปากแก้ว ไม่เหมาะสำหรับคนที่เสียวฟันง่าย หรือเป็นโรคเหงือกอักเสบ เครื่องดื่มที่เย็นจัดจนฟันชาทำลายความน่าอภิรมย์ในการดื่ม

ลองคิดดูว่า จะดื่มกาแฟเย็นมีฟองนม หรือชาเขียวใส่วิปครีมอย่างไร โดยไม่ใช้หลอด และไม่มีหลอดพกติดตัว ดื่มจากแก้วได้แล้วหนวดขาว

การที่จะให่ผู้บริโภค พกหลอดส่วนตัวไว้ตลอดเวลา เมื่อใช้แล้วหลอดก็ต้องนำไปล้าง ถ้าใช้น้ำยาล้างจาน ใช้น้ำประปา ก็มีผลต่อการใช้ทรัพยากรน้ำ สารเคมี และกระแสไฟฟ้าอยู่ดี หากร้านเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษ ก็จะเป็นคำตอบให้กับการอนุรักษ์ และยังต้องเปลี่ยนแก้วน้ำเป็นแก้วกระดาษเช่นกัน แก้วทำด้วยพลาสติก ใช้ปริมาณพลาสติกมากกว่าหลอดหลายเท่า ร้านกาแฟหลายร้านในเมืองไทย ก็ใช้ทั้งแก้วและหลอดที่เป็นกระดาษเคลือบไขมัน โดยไม่ต้องอวดว่าทำความดี แต่ลูกค้าที่มีสำนึกอนุรักษ์ เมื่อเห็นแล้วก็ชื่นใจ อยากอุดหนุนร้านนั้นไปตลอด

ราคาหลอดกระดาษปัจจุบัน ราคาหลอดละ 1 บาทขึ้นไป ในขณะที่หลอดพลาสติกหลอดละไม่ถึง 10 สตางค์ แน่นอนว่า ถ้าใช้หลอดกระดาษกันแพร่หลาย ราคาก็จะถูกลง แต่ถ้าค่าหลอดยังอยู่ที่ 1 บาท เจ้าของธุรกิจก็ต้องเพิ่มต้นทุนของตัวเอง ถ้าขายกาแฟเย็นวันละ 200 แก้ว รายได้ก็ลดลง 200 บาท ส่วนผู้ผลิตหลอดกระดาษก็ต้องลงทุนนับสิบล้านเรื่องเครื่องจักร และระบบต่อเนื่อง ปัจจุบันหากร้านค้าสั่งตั้งแต่ 5 หมื่นหลอดขึ้นไป ราคาจะลดลงเป็นหลอดละ 50 สตางค์

จะเห็นได้ว่า แนวทางปฎิบัติที่ทำได้จริง (practicality) เป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้นสำนึกอนุรักษ์ และการอนุรักษ์ต้องพบได้ทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ การที่ใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ ที่มีต้นทุนแพง ย่อมเป็นไปไม่ได้ในเชิงธุรกิจ หรือเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ไม่คงทน และทำให้เกิดความไม่น่าอภิรมย์ เช่นกล่องบรรจุย่อยสลายง่าย ที่อาหารติด ต้องรองด้วยแผ่นพลาสติกก่อน หรือไม่สามารถทนต่ออาหารเปียก หรือบรรจุของเหลวได้ กลายเป็นทางออกที่ไม่ยั่งยื่น ในทางตรงกันข้าม ครัวเรือนที่มีจิตอนุรักษ์ จะนำกล่องบรรจุอาหารที่เป็นพลาสติกนำมาใช้ใหม่ ใช้เก็บอาหารเหลือในตู้เย็น หรือใช้บรรจุอาหารหรือขนม ไปที่ทำงาน หรือนำไปฝากเพื่อน และแยกกล่องพลาสติกไว้จากขยะอื่นเช่นเดียวกับการแยกขวดน้ำใช้แล้ว

ร้านกาแฟ ที่ลดราคาให้ลูกค้าที่นำภาชนะมาใส่เอง 5 บาท ก็มีส่วนในการลดวัสดุที่จะเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม การเก็บกล่องพลาสติกใส่อาหารที่ซื้อมา แต่มีความแข็งแรงพอจะใช้ได้หลายหน ทำความสะอาดให้ดี แล้วนำไปให้ร้านอาหารตามสั่งใส่ข้าวราดผัดกะเพรา แทนกล่องโฟม ก็เป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ ถ้าเรามีสำนึก เราจะไม่มองข้ามสิ่งเล็กน้อยในชีวิต ทำให้ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของพลังแห่งมนุษยชาติ

การอนุรักษ์ใดๆ อย่ามองแต่ปลายน้ำ และต้องเคลื่อนไหวอย่างยั่งยืน ไม่ใช่รอให้มีฮีโร่ มาชักชวนแล้วค่อยมีส่วนร่วม ถ้าปลายน้ำไม่มีทางเลือกที่ดี ไม่มีการช่วยจัดเตรียมให้ ก็ไม่มีวันที่การอนุรักษ์ใดๆ จะเกิดได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องธรรมชาติ สภาพแวดล้อม หรือสภาพภูมิอากาศโลก

ผู้มีอำนาจ หรือผู้ที่นำโครงการต่าง ก็ต้องเริ่มปฎิบัติจริงด้วยตนเองเช่นกัน จะได้รู้ว่า อะไรที่ทำได้สะดวกในชีวิตจริง อะไรที่ทำได้ลำบากเกินกว่าคนหมู่มากจะทำตามได้ และจะได้เข้าใจการสร้างสำนึก ที่ลึกซึ้งมากกว่าแค่ชื่อแคมเปญเท่ห์ๆ หรือแนวคิดสวยๆ ที่เป็นได้เพียง อุดมคติหรือความคูล

ถ้าจะสอนเยาวชนว่า อย่าปากว่าตาขยิบ ก็ต้องฝึกให้ปิดโมไบล์โฟน จนกว่าจะต้องใช้งาน เพราะการใช้มือถือเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน แบตเตอรี่หมดก็ต้องชาร์จแบต การดูหนังฟังเพลงทางมือถือ การดาวน์โหลด อัพโหลดเพลงในยูทูบ หรือสปอตติไฟ การใช้โซเชียลมีเดีย ล้วนมีผลกระทบถึง carbon footprint และก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น

อย่าออกมาถือป้ายตามท้องถนน ตำหนิผู้อื่น เรียกร้องให้รัฐบาลทำนั่นทำนี่ แต่ตนเองและเพื่อนถ่ายรูปการชุมนุม ถ่ายเซลฟี่ ลงโซเชียลมีเดียกันกระหน่ำอวดว่าฉันก็มา ต้องจำไว้เสมอว่า….

Practice what you preach เทศน์แล้วต้องทำ


#รักษ์โลก #Carbonfootprint #ClimateSummit #climatechange