สีชมพู เป็นสีโปรดของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย จะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า ซองมือถือ อีโคคาร์ ดอกไม้ ไอศครีม แชมเปญ ซ่าหริ่ม ขนมสาลี่ ขนมเค้ก โรตีสายไหม ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ต้องเจอ pink

แม้กระทั่งเกลือ แค่ให้รสเค็มก็ธรรมดาเกินไป ต้องใส่ pink salt เกลือสีชมพู

เกลือสีชมพู ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับสังคม ทั้งในครัวและนอกครัวนั้น คือเกลือที่เรียกเต็มๆว่า เกลือหิมาลัยสีชมพู หรือ pink Himalayan salt ที่มาจะปรากฏกายในลักษณะต่างๆ กัน เช่น อยู่ในขวดบดเกลือ เป็นโคมไฟผลึกเกลือ เป็นเขียงเกลือสีชมพูสำหรับย่างสเต้ก และอยู่ในกระสอบป่าน ในห้องสปาหรูของโรงแรมห้าดาว

พ่อครัวแม่ครัว และคนชอบทำอาหาร ต่างก็หลงใหลในพิงค์ซอลท์ บอกว่า มีรสชาติดีกว่า และยังมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพต่างๆ นานา ไม่ว่าจะกินเข้าไป หรือใช้บำรุงผิวพรรณ หรือทำเป็นเครื่องสำอาง

เกลือหิมาลัยสีชมพูนั้น ของแท้ต้องมาจากผลึกเกลือ ที่ขุดได้จากแถวเทือกเขาหิมาลัยในปากีสถานเป็นหลัก สีชมพูนั้นเกิดขึ้นจากแร่ธาตุที่ผสมอยู่ในผลึกเกลือ เช่น แมกนีเซียม โปแตสเซียม และแคลเซียม เกล็ดเกลือสีชมพูขนาดเล็ก ก็จะนำมาบรรจุใส่ขวดบดเกลือ วางบนโต๊ะอาหารได้เลย ส่วนผลึกเกลือหิมาลัยก้อนโตๆ ก็จะนำมาประดิษฐ์ เป็นโคมไฟผลึกเกลือสีชมพู นำหลอดไฟใส่ไว้ให้แสงสีชมพูนวลละมุนไปในห้อง หรือเอาผลึกเกลือก้อนโต ประดับไปบนผนังให้รอบห้อง เพื่อให้เกิดความเป็น “เชมเบอร์เกลือ” (salt chamber) ที่เชื่อกันว่าสามารถดีทอกซ์ได้ เพียงใช้เวลาอยู่ในห้องสปาเกลือ

ผู้คนทั้งโลก หลงใหลสีชมพูอยู่แล้ว พอมีข้อมูลกระจายไปว่า เกลือหิมาลัยสีชมพู ดีงามข้ามภพ ก้ออยากมี อยากลอง อย่างเช่นโคมไฟผลึกเกลือสีชมพู บริษัทที่ผลิตขายก็อ้างว่าสามารถบรรเทาอาการบกพร่องของร่างกายจากฤดูกาล ทำให้มีเรี่ยวแรง ทำให้นอนหลับสบาย และผลึกเกลือจะทำลายมลภาวะในอากาศ จับผงฝุ่นและละอองต่างๆ โดยอธิบายว่า ผลึกเกลือจะดูดซึมโมเลกุลของน้ำจากอากาศ และปล่อยไอออน (Ion) ประจุลบออกมา เป็นการขจัดฝุ่น ช่วยให้หายใจสะดวก ลดอาการแพ้

แล้วประจุลบของไอออนสำคัญไฉน? ถ้าหากแนวคิดที่ว่า ไอออนที่มีประจุบวก ที่เกิดจากอากาศร้อน และอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ทั้งหลาย มีผลต่ออารมณ์ และสุขภาพของร่างกาย ดังนั้น ไอออนประจุลบ ก็น่าจะให้ผลตรงกันข้าม คือทำให้อารมณ์ดี และร่างกายแข็งแรง

แต่ไม่เคยมีการทดลองหรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่จะยืนยันแนวคิดดังกล่าวแม้แต่ชิ้นเดียว ยิ่งกว่านั้น บริษัทที่ผลิตโคมไฟผลึกเกลือหิมาลัยสีชมพู ยังเคยต้องเรียกสินค้าคืนจำนวนเกือบแสนชิ้น หลังจากที่ได้เกิดมีผู้ใช้ถูกไฟฟ้าช็อต และเกิดไฟลุกไหม้จากโคมไฟเกลือหิมาลัยมาแล้ว

บริษัทที่จำหน่ายเกลือหิมาลัยสีชมพู อ้างว่าเกลือนี้มีแร่ธาตุมากถึง 84 ชนิด คู่แข่งก็ออกมาแย้ง บอกว่ามีเพียง 60 ชนิด แต่สำหรับผู้บริโภค จะมี 84 หรือ 60 ชนิด มันก็เยอะมากแล้ว ดีกว่ามีแต่โซเดียม อย่างเช่นเกลือที่ใช้ประจำวัน

ในส่วนของความเชื่อว่า เกลือหิมาลัยสีขมพู ให้รสชาติอร่อยกว่าเกลือทั่วไป บรรดาเชฟ และปรมาจารย์ชื่อดัง ก็ได้บอกแล้วว่า ถ้าชิมเปล่าๆ บางคนอาจจะได้รสชาติอื่นนอกเหนือจากรสเค็ม ถ้าได้รสอะไรเพิ่มขึ้น ก็คงมาจากแร่ธาตุที่ผสมอยู่ แต่โดยทั่วไปเมื่อใช้เกลือปรุงอาหาร กลิ่นหรือรสอื่นๆ ที่ปนในเกลือ ก็จะหายไปกับรสของวัตถุดิบ เครื่องเทศ และสมุนไพรที่ใช้ทำอาหารจานนั้นๆ ซึ่งมีกลิ่นรสเข้มกว่าเกลือ

แต่เกลือหิมาลัยสีชมพู ถ้าใส่ในขวดเกลือบนโต๊ะอาหาร จะได้ความสวยงามอย่างแน่นอน

นอกจากเกลือหิมาลัยสีชมพูแล้ว ก็ยังมีประเด็นของดอกเกลือ เพราะไม่ว่าจะอ่านสูตรในหนังสืออาหาร บทความจากอินเตอร์เน็ต หรือชมรายการอาหารทางโทรทัศน์ ผู้เขียนหรือผู้ดำเนินรายการ ก็ภูมิใจที่ใช้ ดอกเกลือ ดอกเกลือไม่ใช่ของหายาก หาซื้อได้จากนาเกลือริมเส้นทางไปเมืองชายทะเล หรือในซุปเปอร์มาเก็ต

การที่สูตรอาหารต่างๆ ที่ปรากฏทั้งออนไลน์ และในนิตยสาร บอกว่าให้ใช้ ดอกเกลือ ทำให้ผู้นิยมทำอาหาร ต้องขวนขวายหาดอกเกลือมาใช้ ยิ่งที่มาจากเมืองนอกเมืองนา ยิ่งดูล้ำค่าตั้งแต่ขวดบรรจุ ไปจนถึงดีไซน์บนขวดและกล่อง ที่ทำให้รู้สึกว่า ดอกเกลือต้องเป็นยาอายุวัฒนะจากแดนสวรรค์แน่ๆ

ความแตกต่างของดอกเกลือ กับเกลือปกติ มีอ้างกันสารพัด ต่างๆ นาๆ บ้างก็ว่า รสชาติของดอกเกลือ ละมุนละไมกว่า หรือดอกเกลือเจือรสหวาน หรือดอกเกลือเค็มน้อยกว่า มีโซเดียมน้อยกว่าเกลือปกติ

แต่ต้องไม่ลืมว่า ถ้าเค็มน้อยกว่า ก็ต้องใส่ปริมาณเพิ่มขึ้น ให้ได้รสเค็มที่ต้องการ

เหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องใช้ดอกเกลือเวลาต้มน้ำซุป หรือทำต้มยำ หรือต้มจืด แกง หรือผัดอาหาร เพราะรสชาติหลักๆ ของดอกเกลือ คือ ความเค็ม เช่นเดียวกับเกลืออื่นๆ เมื่อใส่ดอกเกลือเข้าไปในอาหารที่ต้องปรุงรสแล้ว จะไม่ได้รับรู้ถึงความแตกต่างของดอกเกลือกับเกลือปกติแต่อย่างใด ไม่ว่าจะรสเจือหวาน หรือรสเค็มละมุนอย่างที่เขาว่ากัน บรรดาปรมาจารย์ด้านอาหาร และซุปเปอร์เชฟทั้งหลาย ก็ต่างยืนยันในเรื่องนี้ และบอกว่า ถ้าต้องการรสเค็มในการปรุงอาหาร เกลืออะไรก็ได้

เกลือพิเศษต่างๆ นั้นจะให้รสหรือกลิ่นที่แตกต่าง ก็ต่อเมื่อใช้โรยสดๆ เช่นโปรยลงไปบนสลัดผักสด หรือโรยลงไปบนเค้กก่อนจะตักกิน หรือใช้จิ้มผลไม้ ลิ้นจะได้สัมผัสกับเกล็ดเกลือ และต่อมลิ้นอาจจะได้รับรสอันเป็นลักษณะพิเศษของดอกเกลือ เกลือทรัฟเฟิล ขนาด 100 กรัม ราคาอาจจะ 500 บาทขึ้นไป ถ้าโรยใส่พาสต้า ก็จะได้กลิ่นทรัฟเฟิล กระตุ้นความอยากกิน แต่ถ้าไปโรยใส่แกงจืดวุ้นเส้นที่มีทั้งรากผักชี กระเทียม พริกไทย ก็เหมือนเทเกลือละลายแม่น้ำ

ทั้งดอกเหลือ และเกลือหิมาลัยสีชมพู ถ้าเอาไปใส่ในผัด ต้ม แกง ก็ไม่ต่างจากเกลือทั่วไป ถ้าอยากให้ได้สัมผัสรสชาติที่ต่างจากเกลือป่น ให้ลองเอาดอกเกลือ หรือเกลือหิมาลัย โรยใส่ เฟรนช์ฟราย อกไก่อบหรือทอดที่ไม่ได้ปรุงรส โรยสลัดผักสด โรยเต้าหู้อ่อน ใช้จิ้มผลไม้รสอ่อนเช่นมันแกว ฝรั่ง แล้วให้ลิ้นของเราสื่อดูเอง

แม้ว่าเกลือ Pink Himalayan Salt จะแพงกว่าเกลือธรรมดาหลายเท่า แต่ขวดขนาด 100 กรัม ราคาก็อยู่ที่ 80-200 บาท แต่ถ้าอยากจะลงทุนซื้ออะไรที่แพงกว่าแล้วรู้สึกว่าอาหารสวย หรือได้จินตนาการแห่งรสชาติ ก็ใช้ไปไม่ต้องคิดมาก เราควรใช้วัตถุดิบอาหารที่ทำใแล้วเราสบายใจ

Credit: Gourmet & Cuisine / April Issue 2018

#pinkhimalayansalt #เกลือหิมาลัย #เกลือสีชมพู