JUDY (2019) เป็นดราม่าคุณภาพ มีฉากและโมเม้นท์ที่หยิบทิสชูไม่ทัน ไม่ต้องพูดซ้ำซากเรื่องฝีมือการแสดงของ เรอเน่ เซลเวกเกอร์ มีออสการ์และอีกหลายรางวัลให้เห็นๆ อยู่ (Oscar จาก Cold Mountain, Golden Globe 3 รางวัล, SAG 3 รางวัล, BAFTA 1 รางวัล) แต่หนังเล่าเรื่อง ระหว่าง 9-10 แล้ว flashback ย้อนกลับไปที่ 1-2 โดยมีส่วนที่หายไปคือ 3-4-5-6-7-8 ดังนั้น ผู้ที่ไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของจูดี้ การ์แลนด์ อาจจะรู้สึกแหว่งๆ แม้จะมีอารมณ์ร่วมไปกับ 9-10

ผู้ที่ไม่รู้จัก Judy Garland มากพอ จะได้รู้จักเธอในหนัง JUDY ว่าเป็นศิลปินวัยป้าที่ตกอับคนหนึ่ง ที่พยายามต่อสู้หาหนทางแห่งความสำเร็จเหมือนที่เคยมีมา แต่ยิ่งใหญ่แค่ไหนคงไม่รู้  และคงไม่รู้ว่านอกจาก Wizard of OZ อันเป็นที่มาของเพลง Over the Rainbow แล้ว จูดี้ การ์แลนด์เป็น legend ด้วยผลงานภาพยนตร์คลาสสิคในช่วงท้ายของยุค 1930s และทะยานสูงสุดในยุค 1940s เช่น A Star Is Born ที่มาของเพลง “The Man that Got Away”, Meet Me in St. Louis (ที่มาของ “The Trolley Song” ที่อยู่ในหนัง JUDY), Summer Stock คู่กับ Gene Kelly, Easter Parade, Babes on Broadway, Girl Crazy, Till the Clouds Roll By และอีกมากมาย ในยุค 50s เธอเริ่มเป็นดาราเจ้าปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม เธอกอบกู้อาชีพของเธอได้จากการแสดงคอนเสิร์ทในอังกฤษที่  London Palladium และ Palace Theatre ในนิวยอร์ค คอนเสิร์ทที่ แพเลซเธียร์เตอร์ นั้นได้รับการยกย่องว่า “เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติของวงการบันเทิง” อันเป็นที่มาของการกลับสู่ลอนดอน ในภาพยนตร์ซึ่งเสนอเรื่องราวในปีสุดท้ายของชีวิต

ในปี 1960 จูดี้ การ์แลนด์ เปิดการแสดงคอนเสิร์ท ที่ Carnegie Hall ซึ่งได้รับความสำเร็จอย่างท่วมท้น ได้รับคำชมจากสื่อว่า “เป็นค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงการบันเทิง” แผ่นเสียงคู่ชุด Judy at Carnegie Hall ได้รับรางวัลแกรมมี่ 4 รางวัล ครองอันดับหนึ่งของ Billboard 13 สัปดาห์ และอยู่ในอันดับต่อเนื่อง เกือบครบ 2 ปี ในปีเดียวกัน เริ่มมีรายการทีวี The Judy Garland Show และสามารถดึง Frank Sinatra และ Dean Martin มาร่วมรายการได้ เป็นปรากฎการณ์สำคัญที่สื่อพาดหัวว่า “เป็นการทำสัญญาศิลปินมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์โทรทัศน์”

จะเห็นว่า จาก 3-8 คือช่วงยุค 40s – 60s กว่า 20 ปี ที่จูดี้ การ์แลนด์ มีสถานภาพเป็นนักแสดงและนักร้องที่ “ยิ่งใหญ่ที่สุด” คนหนึ่งของโลก และจะช่วยให้เข้าใจความตกต่ำ และการดิ้นรนของเธอในภาพยนตร์ JUDY ได้ดีขึ้น

การพยายามอธิบายสภาพอารมณ์และจิตใจ โดยเชื่อมเข้ากับการถูกกระทำ และเอาเปรียบ ในวัยเด็ก เป็นจิตวิทยาที่เห็นบ่อยครั้งในภาพยนตร์ เป็นสิ่งที่เฝือ และไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมและนิสัยแบบ Prima Donna (ตัวละครนำในโอเปร่า ที่คิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ จะทำทุกอย่างได้ตามใจตัวเอง) ได้ชัดนัก เพราะนิสัยแบบนี้ ย่อมได้มาจากสถานภาพอันยิ่งใหญ่ ในฐานะดาราหมายเลขหนึ่งของโลกในยุค 1940s-1950s

อย่างไรก็ตาม การเล่าเรื่องราว 1-2 = 9-10 ใน JUDY นั้น ทำได้อย่างแยบยล คมคาย ทั้งบทพูดของตัวละคร และสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้หนังมีเสน่ห์เร้าอารมณ์ เทคนิค dolly zoom ที่ใช้กับฉากร้องเพลงนั้น เป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมในหนังยุค 60s จึงช่วยเพิ่มบรรยากาศย้อนยุคให้กับหนัง การซูมใบหน้าอย่างใกล้ชิด นำผู้ชมเข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับตัวละคร ให้สำรวจอารมณ์ตัวละครในขณะนั้นได้ทั้งจากสายตาและกล้ามเนื้อบนใบหน้า

ส่วนคนที่สนใจดนตรีในแนว jazz standard ภาพยนตร์ของเธอ เป็นที่มาของเพลงอย่างเช่น The Boy Next Door, Where or When, Have Yourself a Merry Little Christmas, Strike up the Band, Embraceable You, I Got Rhythm, But Not For Me, Fascinatin’ Rhythm และอีกมากมาย ชอบเพลงไหนก็เสิร์ชหาว่า มาจากหนังเรื่องใด ใช้เป็นเกณฑ์ในหัวข้อ Judy Studies จูดี้ศึกษาได้