Life Coach คืออะไร? ดูเหมือนว่าใครๆ ก็กลายเป็นไลฟ์โคช กันได้ถ้ามีพื้นที่ให้ได้แสดงความคิดเห็น ให้คำแนะนำ แชร์ความรู้ และถ่ายทอดประสพการณ์ส่วนตัว มันใช่หรือ?
Life coaching คือวิธีการช่วยสร้างแนวทางในการสู่ความสำเร็จ ของผู้คนในยุคปัจจุบัน ความนิยมที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาชีพ life coach ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และขยายตัวไปทั่วโลกจนเป็นระดับอุตสาหกรรม ที่เรียกว่า life coaching industry
ไลฟ์โคช ไม่ใช่ consultant ไม่ใช่ trainer ไม่ใช่ติวเตอร์ ไม่ใช่อาจารย์ และไม่ใช่นักจิตวิทยาบำบัด แต่เป้าหมายและหน้าที่หลักของไลฟ์โคชคือ ให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ และช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้ศักยภาพของตน ในการวางแผนและลงมือทำงาน ให้โครงการบรรลุเป้าหมายได้ ด้วยเหตุนี้ ไลฟ์โคช ระดับมืออาชีพ จึงให้บริการกับลูกค้า เช่นเดียวกับแพทย์และคนไข้ นักกีฬาและโคช สมาชิกฟิตเนสและเทรนเนอร์ มีการนัดหมายเพื่อปรึกษาและประเมินความก้าวหน้ากันอย่างสม่ำเสมอ เช่นสัปดาห์ละครั้ง โดยโคชและลูกค้า ตกลงกันเรื่องเวลาให้ชัดเจน ทั้งวัน เวลา และระยะเวลาในการพูดคุย เช่น 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง
ลูกค้าที่จริงจัง ย่อมต้องตรวจคุณสมบัติและความน่าเชื่อถือของไลฟ์โคช อย่างรอบคอบให้คุ้มกับการจ่ายค่าบริการ ซึ่งไม่มีคำว่าไม่แพง ดังนั้นไลฟ์โคชระดับอาชีพต้องมีประสพการณ์การทำงาน ทักษะและความชำนาญที่ได้รับการยอมรับในสาขาต่างๆ ผ่านการอบรมการเป็นไลฟ์โคช มีใบรับรองและวุฒิบัตรจากสถาบันเฉพาะสาขา ผู้ที่เรียกใช้บริการของไลฟ์โคช ได้แก่ เจ้าของธุรกิจ นักธุรกิจระดับบริหาร ผู้เริ่มต้นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก นักร้องนักแสดง ผู้คนในวงการโฆษณา โดยที่ไลฟ์โคช อาจไม่มีความรู้ในสาขาอาชีพของลูกค้ามากเท่าลูกค้า แต่สามารถช่วยหาวิธีการที่จะช่วยให้ลูกค้า สามารถก้าวข้ามช่องว่างที่กั้นอยู่ระหว่างปัจจุบันและเป้าหมายในอนาคตได้ จุดมุ่งหมายของไลฟ์โคช คือส่งลูกค้าให้ไปถึงฝั่ง หากลูกค้ามีปัญหาที่คั่งค้างจากอดีตที่ผ่านมา จนอาจเป็นอุปสรรคต่อแผนที่วางไว้ ไลฟ์โคชอาจแนะนำให้ปรึกษานักจิตวิทยาบำบัด หรือผู้ตรวจบัญชี หรือทหนายความ ขึ้นอยู่กับปัญหาที่ต้องแก้ไข

ผู้คนหันไปพึ่งไลฟ์โคช เพราะต้องการมากกว่าที่เป็นอยู่ ต้องการให้ชีวิตเติบโตเร็วขึ้น และต้องการก้าวข้ามขีดจำกัดของตนได้อย่างไม่ลำบากยากเข็ญ ต้องการคิดและทำนอกกรอบ ดังนั้นไลฟ์โคช จะช่วยค้นหาปัจจัยที่เป็นอุปสรรค รูปแบบซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในชีวิต ช่วยสร้างแรงกระตุ้น นำเสนอสิ่งที่จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจ และบอกลูกค้าว่าต้นเหตุแห่งความกลัว หรือต้นเหตุแห่งความไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงคืออะไร
Life coach เป็นคำเรียกกว้าง ๆ ดังนั้น จึงมีการนำคำว่า ไลฟ์โคช ไปเรียกใครต่อใครกันอย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ นักร้องนักแสดงที่แชร์ความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เป็นประจำ รวมไปถึงนักพูดสร้างแรงบันดาลใจตามเวทีและพื้นที่ต่างๆ การแสดงความคิดเห็นส่วนตัว หรือการใช้ชุดคำพูดคมคาย มีวรรณศิลป์สร้างสรรค์ มีวัจนลีลา ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดการคิดตาม และฝึกการใช้ตรรกะ แต่ไม่ได้เป็นการ “โคช” ชีวิตให้ใคร ผู้ฟังต้องนำแรงบันดาลใจ ไปต่อยอดเอาเอง
ในอดีต คำศัพท์ ‘to coach’ หมายถึง ฝึกชั้นเชิงให้ สอนชั้นเชิงให้ ดังนั้นคำว่า โคช จึงได้ยินบ่อยกับกีฬา (sport coach) เช่น swimming coach หรือ tennis coach หรือ การพูดต่อสาธารณชน (public speaking coach) การร้องเพลง (vocal coach) แม้ว่าจะไม่มีกฎเกณฑ์การใช้คำว่า coach แต่จะสังเกตได้ว่า กิจกรรมที่ต้องได้รับการ “สอนชั้นเชิง” เหล่านี้ คือสิ่งที่จะแสดงต่อสายตาคนจำนวนมาก (public performance)
แม้ว่าเราอาจจะไม่ค่อยได้ยินใครเรียกติวเตอร์วิชาเคมีว่า “โคชเคมี” หรือ “โคชประวัติศาสตร์” แต่ในการเตรียมตัวของนักเรียนที่จะไปแข่งขันวิชาการ ก็อาจมีการเรียกอาจารย์ที่ “ติวและสอนชั้นเชิงให้” ว่า “โคชแมธ” หรือ “โคช(ภาษา)เกาหลี” บรรดาโคชในกรณีเช่นนี้ ไม่ใช่ “ครู” ที่สอนในชั้นเรียนตามปกติ ไม่ใช่ติวเตอร์ในโรงเรียนกวดวิชา แต่เป็นผู้สอนที่มีประสพการณ์ในด้านการแข่งขันวิชาการ และสามารถถ่ายทอด และแนะนำเทคนิคพิเศษในการจำเนื้อหาและสูตรสำเร็จ ให้กับผู้เข้าแข่งขันได้
ในโลกที่การเรียนรู้มีให้แสวงหาออนไลน์ คำว่า โคช ก็ถูกจับใส่กับการเรียนรู้ต่างๆ เช่นการแต่งหน้า ก็มี makeup coach, diet coach, fitness coach และ art coach แต่คำเหล่านี้ ฟังดูเป็นสาขาอาชีพและความสนใจเฉพาะทาง แต่ฟังดูไม่ยิ่งใหญ่เท่าคำว่า life ซึ่งครอบคลุมภาพใหญ่ของชีวิต
แล้วก่อนที่จะมีคำว่า life coach ให้ใช้กัน ผู้คนหันไปพึ่งใคร?
ผู้คนในอดีต ไม่มีอะไรที่จะไขว่คว้าได้อย่างสะดวก เช่นหาข้อมูลด้วยการเอื้อมมือไปพิมพ์ที่คีย์บอร์ดหรือจอโทรศัพท์มือถือ แต่ครูในโรงเรียนที่นอกจากให้ความรู้ตามหลักสูตรแล้ว ยังเพิ่มเติมความรู้โลกให้กับลูกศิษย์ คอยอบรมให้แยกแยะความดีความชั่ว ชี้แนะให้เห็นคุณค่าที่จะทำให้ชีวิตดี ใส่ใจต่อนักเรียนมากกว่าคะแนนสอบ ครูเหล่านี้ กลายเป็น mentor (เมนทอร์) หรือพระอาจารย์ และความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ก็จะผูกพันกันยาวนาน ปัจเจกบุคคลอาจได้พบ mentor ตั้งแต่อายุน้อยหรือกว่าจะพบก็ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย หรือได้พบ mentor เป็นผู้อาวุโสในที่ทำงาน หรือวงธุรกิจก็ได้
ผู้คนในวันวาน ที่ไม่ปลงใจจะให้ใครเป็นเมนทอร์ง่ายๆ ก็แสวงหาความรู้ เพิ่มเติมทักษะให้กับตนเอง โดยการไปร่วมฟังบรรยายทางวิชาการ หรือฟังปาถกฐาจากนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ (แม้ว่าในอดีตยังไม่มีการจัดให้เป็นอาชีพอย่างชัดเจน) ผู้คนก็สนใจที่จะฟังเรื่องราวของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมท, มรว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์, ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ หรืออ่านหนังสือของ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ และเดล คาร์เนกี้ และแม้จะได้แต่อ่านหนังสือ ไม่เคยได้พบปะกับบุคคลเหล่านี้ ก็อาจปวารณาตนเป็นลูกศิษย์ของนักคิดเหล่านี้ได้เช่นกัน แต่กว่าจะกล้าบอกว่าใครเป็น mentor ได้ ก็ต้องศึกษางานของท่านนั้นมาเป็นเวลานาน ติดตามอ่านผลงานหลายสิบเล่ม ติดตามฟังหลายสิบครั้ง
อย่าลืมว่า คำที่เคยใช้มาในอดีต ไม่ว่าจะ teacher, advisor, mentor, advocate, champion, guru, master ไม่ได้สูญเสียความหมาย หรือคุณค่าใดๆ แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป
ในขณะที่สังคมไทย กำลังตื่นเต้นกับ life coach คำศัพท์ที่น่ารู้อีกคำคือ creativity coach ซึ่งมีนิยามไม่ต่างจาก life coach แต่เน้นไปที่มิติของการสร้างสรรค์ ในกรณีที่ลูกค้า ต้องการเน้นการพัฒนาทางเชิงศิลปะ และมนุษยศาสตร์ ดังนั้นลูกค้าของ creativity coach จึงเป็นกลุ่ม จิตรกร นักเขียน นักประดิษฐ์ นักแต่งเพลง นักดนตรี โรงเรียนศิลปะ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับศิลปะทุกสาขา หรือแม้แต่บุคคลธรรมดา ที่ต้องการเพิ่มมิติ artistic หรือ creative ให้กับชีวิตของตนเอง
