การเมืองและสภายุคนี้ มีแต่คนหลงใหลเรื่องศิลปะการละคร สะท้อนต่อเนื่องมานาน ความจริงเลิกเล่นการเมืองแล้วไปเอาดีทาง theatrical art ให้มันจบๆ ไปน่าจะได้ดี ทาง Hollywood หรือ Royal Shakespeare Company อาจจะให้งานทำ
ไม่ว่าจะจัดพร็อพ มาแสดงตลกหน้าม่านในสภา การอวดเสื้อผ้าหน้าผม และการอ้างคำพูด (quote) มาจากหนังและวรรณกรรม โดยไม่ให้เครดิตที่มา หรือนัดกันดูดปากระหว่างเพศเดียวกันแบบนับถอยหลัง ทุกอย่างมาแต่เปลือก ขาดความลึก ถ้าจะเอาดีทางด้านการใช้สัญลักษณ์หรืออ้างวรรณศิลป์ในรูปแบบใด คงจะต้องเรียนเพิ่มเติมเยอะ จะได้มี depth และเข้าใจใน symbol ต่างๆ ได้อย่างคมคาย
ล่าสุด “Winter is coming” ประโยคโด่งดังจาก Game of Thrones ก็มา มาช้าไปมาก เพราะ ปธน. วิโดโด ของอินโดนีเชีย พูดไปตั้งเกือบ 3 ปีแล้ว วิโดโด อ้างประโยคนี้เพื่อเตือนเรื่องวิกฤติของสงครามทางการค้าที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก
ใน GOT ประโยคนี้เป็น motto ของตระกูลสตาร์ค การพูดว่า “Winter is coming” ของคนทั่วไป เป็นการบอกให้เตรียมตัวรับความหนาวเหน็บที่กำลังจะมาตามฤดู อาหารจะแร้นแค้น อาการเจ็บป่วยจะมาเยือน และชีวิตจะยากลำบากในทุกด้าน แต่การที่ตระกูลสตาร์คพูดประโยคนี้ซ้ำๆ มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ไม่ใช่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ พูดซ้ำพูดซาก ปากโดนผีเจาะ

Winter ในความคิดเชิงสัญลักษณ์ของฝรั่งคือ “ความตาย” ดั่งทีเปรียบวัฎจักรของฤดูต่างๆ เสมือน การเกิด วัยสมบูรณ์แข็งแรง ความชราภาพ และความตาย ตามลำดับของ Spring, Summer, Autumn, Winter.
เมื่อนำประโยคนี้มาใช้นอกบริบทของ GOT ย่อมเป็นการเตือนให้รู้ว่า “ความยากลำบากสาหัสกำลังจะมาถึง” เขตที่มี winter แต่ไม่หนาวเหน็บ แต่เย็นสบายอย่างฮ่องกง ไต้หวัน โอกินาวา ก็คงไม่ตื่นเต้นกับใครที่จะบอกว่า Winter is coming เพราะฟังดูเหมือนข่าวดี เพราะโลกร้อนจนตลอดทั้งปีร้อนตับแลบ ส่วนคนที่เคยใช้ชีวิตในเขตหนาวอย่าง แคนาดา สแกนดิเนเวีย รัฐทางตอนเหนือของอเมริกา จะรู้ว่ามันหนาวเหน็บเข้ากระดูก จะเปิดประตูออกจากบ้านคิดแล้วคิดอีก จะออกไปซื้ออาหารบ่อยๆ ก็ไม่ได้ รถยนต์ก็ต้องเสียบไฟฟ้าไว้ไม่งั้นสตาร์ทไม่ติด ยิ่งในอดีตกาลที่ไม่มีไฟฟ้าไว้ทำความอบอุ่นให้บ้านเรือน จุดเตาผิง (fireplace) นี่เอาไม่อยู่ แม้ว่าจะใส่เสื้อผ้าหนาหลายชั้น
การอ้างถึง “Winter is coming” ในเมืองไทย หรือในสภา จึงเป็นเพียง การอ้างประโยคยอดฮิตจากซีรีส์ยอดนิยมเท่านั้น สมาชิกสภาฟังแล้วคงไม่หวั่นไหวแต่อย่างใด คงไม่มีใครได้ยินแล้วตีความว่า winter คือ ความตาย
เชคเปียร์ เขียนไว้ในละครเรื่อง Richard III ให้กษัตริย์ริชาร์ด รำพึงกับตัวเองว่า “Now is the winter of our discontent” (เหมันต์แห่งความทุกข์ใจ) เชคเปียร์ใช้อุปมา winter ในบทละครหลายเรื่อง เพื่อสื่อถึงสิ่งต่างๆ ในทางลบ เพราะภาพของเหมันตฤดูนั้นไร้สีสัน อ้างว้าง ไร้ชีวิต เศร้าใจ และเก็บกด แต่ความหมายเต็มของวาทกรรมท่อนนี้จาก Richard III เป็นการพูดด้วยความยินดี ที่เหมันตฤดูแห่งความทุกข์ ได้ถูกทดแทนด้วยแสงตะวันของคิมหันต์ (ฤดูร้อน)
“Now is the winter of our discontent
Made glorious summer by this son of York;
And all the clouds that low’r’d upon our house
In the deep bosom of the ocean buried.”
(Act 1, Scene 1)
สำนวน The winter of our discontent ถือว่าอมตะ มีการนำมาใช้เมื่อเหมาะกับเหตุการณ์ ยิ่งกว่านั้น ยังได้รับการต่อยอดเป็นวรรณกรรมเรื่อง “The Winter of Our Discontent” ผลงานชิ้นสุดท้ายของนักเขียนรางวัลโนเบล John Steinbeck พิมพ์จำหน่ายในปี คศ. 1961 และได้สร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 1983 นำแสดงโดย Donald Sutherland ยิ่งกว่านั้น ชื่อของหนังสือเล่มนี้ ยังถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ใช้เชื่อมโยงถึง Donald Trump โดยอ้างถึงความโลภ ความเกลียดชังต่อชาวจีน และคอรัปชั่น โดยพูดว่า “The winter of America’s discontent” เพื่อจะสื่อว่า อเมริกากำลังอยู่ในสภาพที่หดหู่ที่สุด เพราะผู้นำ
ประโยคเกี่ยวกับ winter ที่กลายเป็นประโยคคลาสสิค และนำมาใช้ในชีวิตปกติ หรืออ้างถึงบ่อยๆ อีกประโยคคือ “Winter is almost upon us” (ฤดูหนาวใกล้จะมาถึงแล้ว) มาจากนวนิยายเรื่อง A Dance with Dragons โดย George R.R. Martin จากส่วนที่พูดว่า
“Kill the boy, Jon Snow. Winter is almost upon us. Kill the boy and let the man be born.”
ในบริบทนี้ winter เชื่อมโยงกับความตาย เมื่อฆ่าเด็กชายแล้วเขาจะได้ไปเกิดใหม่เป็น “ผู้ชายเต็มตัว” เมื่อฤดูใบไม้ผลิ (Spring) มาถึง ฤดูใบไม้ผลิเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่
ผู้ทรงเกียรติในสภากี่คนที่จะรู้สึกถึงความหนาวโหด หรือหายนะที่จะมากับ winter ตามสำนวน “Winter is coming” ก็ไม่ทราบได้ และจำนวนหนึ่งก็คงไม่รู้จัก หรือไม่เคยดูซีรีส์ Game of Thrones แต่ถ้าพูดว่า “เหมันต์รัญจวน” น่าจะเข้าใจกันดีกว่า เพราะเป็นเพลงดังของคุณ บุษยา รังสี แต่งโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน ตำนานอมตะวงสุนทราภรณ์
เหมันต์รัญจวน
- หวีดหวีดวอนวอนอ้อนออดโอยมา
- โอ้อนิจจาอ่อนอาลัย
- เหมันต์ครวญคลั่งฟังคล้ายเสียงใครเสียงใครครวญใคร่
- ร้องไปร่ำไปในสายลม
- หลับตื่นคืนวันหวาดหวั่นรัญจวน
- โอ้ลมหวนอวลป่วนอารมณ์
- เหมันต์กระหน่ำตำคล้ายเข็มคมสักแทงโศกซม
- เจ็บเหลือจะข่มแล้วกรรมเวร…
การร่างคำอภิปราย เป็นสิ่งปกติ และเป็นขั้นตอนแบบมืออาชีพ แต่เนื้อหาต้องจับต้องได้ นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่ใช่อารมณ์แอคติ้งจนผิดธรรมชาติ และไม่ต้องแต่งเติมด้วยจริตที่จะเน้นความเท่ห์เพื่อกลุ่มของตนเอง ตัดความพยายามที่จะอยู่ในแวดวงบันเทิง หรือละครเวทีออกไป แล้วสคริปต์จะไม่ดูเป็นการแสดงจำอวด
