การที่มนุษย์คนหนึ่ง สามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ต้องใช้เวลา ความอดทน ความมีวินัย จนทำได้สำเร็จตามแผนจนประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวัง ความยินดีที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความรู้สึกอยากฉลอง อยากมอบของขวัญให้หัวใจที่พองโต

วิธีการฉลองของบัณฑิตแต่ละคนก็ต่างกัน ไม่ว่าจะชาติใด วัฒนธรรมใด มีปัจจัยทั้งทางวัฒนธรรม และทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งค่านิยมส่วนตัว

การเข้าร่วมพิธีรับปริญญาบัตรนั้น เป็นการ “ร่วมพิธี”  ไม่ใช่งานส่วนตัวที่มีบัณฑิตรายเดียวในพิธี แต่ผู้ที่จบการศึกษาในช่วงเวลาเดียวกัน ต่างนำความสุข ความปิติ ของตน มาแบ่งปันกับเพื่อน ที่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันมาตลอด 4 ปี หรือนานกว่า เพื่อนร่วมรุ่นในมหาวิทยาลัย เป็นเพื่อนที่คบกันได้ยาวนาน เพราะมีข้อผูกมัดร่วมกันเช่น เมเจอร์เดียวกัน คณะเดียวกัน จึงมีโอกาสที่จะได้รู้จักกัน แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น และช่วยให้แต่ละคนได้ค้นพบตนเอง ทั้งในแง่ของความปรารถนาและอัตลักษณ์มากกว่าเดิม

การเข้าร่วมพิธีรับปริญญา ก็ไม่ต่างจาก การจัดงานฉลองวันเกิดของตัวเรา จะฉลองหรือไม่ฉลองก็สิทธิของเรา ขึ้นอยู่กับอารมณ์ส่วนตัวที่อาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา บางคนเฉยๆ กับวันเกิดอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้ต้องการงานเลี้ยงหรือปาร์ตี้มอบของขวัญ แต่เมื่อเพื่อนและครอบครัวที่รักและผูกพัน อยากจัดงานเลี้ยงเพื่อบอกให้รู้ว่าเรานึกถึงกัน เราผ่านสิ่งต่างๆ มาด้วยกัน “ฉันดีใจที่มีเธอในชีวิต” ก็ไม่ได้ขัด เมื่ออยากจะสังสรรค์ก็ดีต่อใจ

เมื่อศึกษาจบระดับมหาวิทยาลัย เพื่อนคุ้นหน้าที่เห็นประจำร่วมหอพัก จนกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เพื่อนร่วมเมเจอร์ ที่เจอวิชายากๆ มากด้วยกัน หรือเกลียดอาจารย์คนเดียวกัน เพื่อนที่ทำงานโปรเจคด้วยกัน รูมเมท ต่างรู้สึกยินดีต่อกันเมื่อเรียนจบ คนแปลกหน้าที่มีประสพการณ์ร่วมกันจากการเริ่มเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้พร้อมกัน จบพร้อมกัน ต่างคนต่างมีความท้าทายรออยู่ ทุกคนผ่านด่านสำคัญของชีวิตไปได้แล้วอีกหนึ่งด่าน รอไปสานฝันให้เป็นจริงเมื่อก้าวสู่โลกนอกรั้วมหาวิทยาลัย

ดังนั้นความรู้สึกอยากฉลองให้กับชีวิตและความสำเร็จของตน ด้วยการใส่ครุย ได้เข้าร่วมงาน ซึ่งมีการกล่าวสุนทรพจน์ ฟังปาฐกถา ได้รับคำอำนวยพร ได้ก้าวออกไปรับปริญญาบัตร “ตามคิวของเรา” โมเมนท์สำคัญนี้เป็นของเรา เป็นการประกาศเกียรติของเรา ความรู้สึกเหล่านี้ล้วนเป็นอารมณ์ธรรมชาติของมนุษย์ บัณฑิตทุกคนที่เข้าร่วมพิธีรับปริญญาบัตร ไม่ได้ทำเพื่อใคร ทำเพื่อบอกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า “วันนี้ฉันทำสำเร็จแล้ว”

ในต่างประเทศ เช่นในสหรัฐอเมริกา พิธีรับปริญญาบัตร ก็ยิ่งมีความเป็น “พิธี” มากกว่าของเมืองไทย มีการคัดเลือกบัณฑิตดีเด่น ขึ้นมาเป็นตัวแทนกล่าวสุนทรพจน์ให้บัณฑิตใหม่ฟัง มีปาฐกถาจากบุคคลมีชื่อ เช่นวุฒิสมาชิกที่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย ขึ้นกล่าวแชร์ประสพการณ์ ให้คำแนะนำเรื่องชีวิตและอาชีพ มอบคำสดุดีและอวยพรบัณฑิตใหม่ มีวงออเคสตร้าขนาดใหญ่ พร้อมวงประสานเสียงหลายร้อยคน บรรเลงและร้องเพลงอย่างอลังการ เพื่อให้บัณฑิตทุกคน ได้รู้สึกถึงเกียรติ และศักดิ์ศรีของความเป็นบัณฑิตอย่างท่วมท้นใจ

ผู้ที่เป็นผู้ยื่นใบปริญญาบัตร ให้แก่บัณฑิต คืออธิการบดี (President) เพราะอเมริกาไม่มีกษัตริย์ บัณฑิตทุกคนก็ภูมิใจที่ได้รับปริญญาบัตรจากอธิการบดี ผู้เป็นทั้งนักวิชาการ นักบริหาร และเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ใบปริญญาบัตรที่ได้รับจากมืออธิการบดีนั้น เป็นเพียง mock-up เพราะปริญญาบัตรใบจริงได้ส่งให้ไว้ในกล่องไปรณีย์ของบัณฑิตแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าได้ปริญญาบัตรที่ชื่อตรงกับบัณฑิต

การไม่ขอรับปริญญาบัตร มีเหตุผลมากมาย และไม่มีการบังคับกัน บัณฑิตบางคนเรียนจบเรียบร้อยแต่ไม่เข้าร่วมในพิธี ถึงกระนั้นก็มาร่วมงาน โดยนั่งอยู่นอกหอประชุมร่วมกับเพื่อนๆ ที่อาจจะยังไม่จบแต่มาร่วมแสดงความยินดี หรือนั่งในบริเวณที่จัดไว้ให้ญาติที่มาร่วมงาน เช่นในเลาจน์ หรือในบริเวณนอกอาคารที่ร่มรื่นเช่นสนามหญ้า มีจอวิดิโอขนาดใหญ่ ถ่ายทอดพิธีภายในหอประชุมให้เห็นตลอดเวลา   บางคนเรียนเก่งมากและได้งานทำแล้วในเมืองที่ไกลจากมหาวิทยาลัย มาร่วมพิธีไม่ได้ บางคนเรียนหนักจนสุขภาพแย่ และไม่อยากวุ่นวายกับเรื่องครุยบัณฑิต โรงแรมที่พักและอื่นๆ แต่ก็แวะมาถ่ายรูปร่วมกับเพื่อนๆ 

ไม่ว่าจะเลือกเข้าร่วมพิธีรับปริญญาบัตร หรือไม่ร่วม  ไม่มีใครจะเชื่อมโยงทางเลือกของตนให้พัวพันกับเหตุผลทางการเมือง หากมีใครบอกเพื่อนว่า “เพราะอธิการบดีเป็นเดโมแครต ฉันจึงรังเกียจและขอไม่ร่วมพิธีรับปริญญาบัตร” เพื่อนๆ ที่ได้ฟัง อาจจะตอบว่า ‘Good for you” เหมือนสำนวนไทยว่า “เอาที่สบายใจ” แต่อาจคิดว่า ปัญญาอ่อน เพราะความสำเร็จของเรา เป็นสิ่งที่น่ายินดี ไม่ว่าจะเป็นเดโมแครต หรือรีพับบลิกัน

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีทั้งงาน “พระราชทานปริญญาบัตร” และ “ประสาทปริญญาบัตร” งานพิธีมอบปริญญาบัตรไม่ว่าแบบใด ต่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อประกาศเกียรติคุณและศักดิ์ศรีให้กับบัณฑิต ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมพิธี ก็ไม่ได้ถูกด้อยค่าแต่อย่างใด ดั่งเช่นคำประกาศในปริญญาบัตรระบุไว้ว่า “มีศักดิ์และสิทธิ แห่งปริญญานี้ทุกประการ”

จะไปร่วมงานหรือไม่ อยู่ทีใจตนเอง เช่นเดียวกับการจัดงานวันเกิด การโจมตีการจัดงานฉลองวันเกิดของผู้อื่น การใช้ hate speech และพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เคารพผู้อื่นมักจะมีที่มาจากจิตใต้สำนึกที่ขาดแคลนศักดิ์ศรี จนไม่เข้าใจความภาคภูมิใจของผู้อื่น

Benchmarkmedia.asia ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตทุกท่าน จากทุกมหาวิทยาลัย

1 COMMENT

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here