การเข้าคิว เป็นวัฒนธรรมสังคม ที่มีจุดประสงค์ให้เกิดความมีระเบียบ ไม่เกิดความวุ่นวาย ไม่ขัดแย้งกัน เมื่อใดที่มีใครลัดคิว ต้องเกิดความขัดแย้งและกฎเกณฑ์ที่วางไว้ต้องพังพินาศ

ชีวิตมนุษย์ที่อยู่ในสังคม มีการเข้าคิวสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง เด็กเล็กก็ต้องเริ่มเรียนชั้นอนุบาล และจึงต่อไปเป็นระดับประถม มัธยม และเมื่อโตขึ้นก็เข้าชั้นอุดมศึกษา เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ก็ต้องเรียน ป.ตรี ก่อนจะเรียน ป.โท และ ป.เอก

มาตรฐานของสังคมในโลก ไม่ว่าวัฒนธรรมจะแตกต่างกันเพียงใด เชื่อมั่นในการเติบโตตามลำดับ การเจริญเติบโตที่มีความสมดุลย์ จะเกิดความพอดีระหว่างวัยและการเรียนรู้ กลายเป็น “วุฒิภาวะ”  

วุฒิภาวะ ได้มาจากประสบการณ์สั่งสมตลอดระยะเวลาของการเติบโต มีความรู้ต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ได้ฝึกการใช้เหตุผล พัฒนาทักษะในการแยกแยะสิ่งที่เป็นความจริงและความเท็จ หัดควบคุมอารมณ์ รู้จักกาละเทศะ ด้วยเหตุนี้ วุฒิภาวะจึงเป็นตัวกำหนดความพร้อม ที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง การแสดงความต้องการของตนเอง ของครอบครัว ของชุมชน และของสังคมโดยรวม ดังนั้นจึงมีการกำหนดเกณฑ์สำหรับผู้ที่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนเมื่ออายุ 18 ปี เพราะเชื่อว่ามีวุฒิภาวะพอควร ยิ่งกว่านั้น เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะพ้นจากภาวะผู้เยาว์ เรียกว่า “บรรลุนิติภาวะ” สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้ด้วยตนเอง

จากจำนวน 237 ประเทศที่มีการสำรวจ ประเทศกว่า 86% กำหนดให้ผู้มีสิทธิโหวต ต้องมีอายุเต็ม 18 ปี แต่ในจำนวน 205 ประเทศ มีประเทศที่กำหนดเงื่อนไขพิเศษให้เฉพาะกรณี เช่น บอสเนีย และเฮอร์เซโกวิน่า ที่ให้ข้อยกเว้นกับผู้ที่มีอายุ 16 ปีเต็มและได้เริ่มทำงานแล้ว ได้รับสิทธิในการโหวด ทั้งนี้เพราะเห็นว่า การประกอบอาชีพเลี้ยงตนหรือครอบครัวนั้น เป็นการเร่งให้เกิดความรับผิดชอบ ซึ่งเชื่อว่าช่วยทำให้วุฒิภาวะ เพิ่มมากกว่าผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกันแต่ยังไม่ได้ทำงาน  ส่วนเกณฑ์อายุ ที่จะลงสมัครเป็นผู้แทนในสภา ก็มีกำหนดไว้เช่นกันในแต่ละประเทศ โดยอาจจะให้สิทธิในการลงสมัครเป็นผู้แทนในสภาได้ทันทีที่มีสิทธิโหวต หรือต้องรอให้อายุมากกว่านั้นสำหรับตำแหน่งวุฒิสมาชิก และตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศเช่นประธานาธิบดี ก็กำหนดอายุให้สูงขึ้นเช่น 35 ปี ขึ้นไป โดยใช้เหตุผลว่า ภาระความรับผิดชอบและการตัดสินใจของผู้มีตำแหน่งในการกำหนดทิศทางของประเทศนั้น ต้องการประสบการณ์ที่มากพอ และมีวุฒิภาวะที่สูงกว่า

การที่พลเมืองมีสิทธิโหวตเมื่ออายุครบ 18 ปี และการบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ 20 ปี บริบูรณ์ ไม่ต่างจากได้รับสิทธิที่พึงได้รับตามบัตรคิว หลังจากที่เข้าคิวอยู่ในแถวตลอดมา คิวของมนุษย์ในสังคมทุกคนขยับเขยื้อนไปอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เข้าใจครรลองของชีวิตดีขึ้น ในแต่ละช่วงปีของการเจริญเติบโต มีความรู้เพิ่มขึ้น และรู้จักตัดสินใจด้วยเหตุผลมากกว่าด้วยอารมณ์ มีความพร้อมที่จะดูแลตัวเองมากกว่าเดิม

ด้วยเหตุนี้กฎหมาย จึงจำกัดสิทธิของ “ผู้เยาว์” ไว้ ด้วยเหตุผลว่า ผู้เยาว์ยังเป็นเด็ก และไม่อาจบริหารสติปัญญาได้ดีเท่าผู้ใหญ่  กฎหมายจึงจำกัดระดับความสามารถในการใช้สิทธิทางกฎหมายไว้ ให้ผู้เยาว์ต้องรอจนกว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงจะสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายได้เต็มเปี่ยม หากผู้เยาว์อ้างถึงความเท่าเทียมในเรื่องสิทธิทางกฎหมาย ย่อมหมายความว่าต้องการสละสิทธิความเป็นผู้เยาว์ และยอมรับการปฎิบัติที่ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ เมื่อเกิดคดีความ หรือการฝ่าฝืนกฎหมาย จะอ้างว่าเป็นผู้เยาว์ ให้ได้รับอภิสิทธิ์ในการดำเนินคดี และบทลงโทษไม่ได้

แม้ว่าบุคคลพึง “บรรลุนิติภาวะ” เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็ไม่มีอะไรจะรับประกันได้ว่า บุคคลนั้นมีวุฒิภาวะที่เหมาะสมกับวัย เพราะความมีวุฒิภาวะ ไม่ได้วัดด้วยอายุเพียงอย่างเดียว วุฒิภาวะ ให้ความสำคัญต่อการคิดไตร่ตรองก่อนจะทำ ก่อนพูด ก่อนแสดงออก อย่างเหมาะสมต่อวัยวุฒิของตน ดังนั้นผู้ใหญ่ที่พูดโดยไม่ไตร่ตรอง จึงถูกสังคมวิจารณ์ว่าขาด “วุฒิภาวะ” แม้ว่าจะบรรลุ “นิติภาวะ” มานานแล้วก็ตาม  

ผู้เยาว์ที่มีระดับวุฒิภาวะพอสมควร (mature minor) อาจตัดสินใจในบางเรื่องได้ แต่การเป็นผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่สามารถใช้สิทธิทางกฎหมายได้ด้วยตนเอง และยังขาดวุฒิภาวะอีกด้วย ย่อมมีปัญหาในการคิด กระทำ และตัดสินใจ เห็นได้จากการตัดสินใจที่จะลัดคิว ออกมาเรียกร้องทางการเมืองก่อนที่จะได้รับสิทธิอันควร ทำให้การแสดงออกขาดทิศทาง และเป็นการแสดงออกทางฮอร์โมนตามวัยโดยไม่มีสาระที่จับต้องได้ทางการเมือง

การลัดคิวเป็นการโกง โกงแถวได้ แต่วุฒิภาวะและนิติภาวะโกงไม่ได้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here