ดูเหมือนกลุ่มผู้หญิงปลดแอก ยังไม่เข้าใจตนเอง ไม่เข้าใจอัตลักษณ์ของผู้หญิง ไม่เข้าใจศักยภาพและอัจฉริยภาพของผู้หญิง ดังนั้นเมื่อออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมของสตรี สิ่งที่ใช้สื่อสาร จึงกลายเป็นการด้อยค่าสตรีเพศชนิดสวนทางกับกาลเวลา ในขณะที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ได้มีกลุ่มต่างๆ ในสังคมช่วยกันสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านทัศนคติ กฎหมาย และค่านิยมของสังคมที่มีต่อสตรีเพศ

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 กิจกรรมที่กลุ่มผู้หญิงปลดแอก จัดขึ้นในการชุมนุมร่วมกับกลุ่มนักเรียนเลว อย่างเช่น “สีดาลุยไฟ” ต้องการจะสื่อผ่านงานวรรณกรรมว่า ผู้หญิงถูกกดขี่อย่างเลวร้าย ขนาดจะพิสูจน์ความซื่อสัตย์ก็ยังต้องยอมเอาชีวิตเข้าแลก การดึงทุกอย่างในอดีตกลับมาปลุกความคิดของคนปัจจุบัน เป็นการสร้างหัวข้อโดยอ้างอิงทัศนะในยุคโบราณที่แฝงอยู่ หากปรากฎการณ์ในวรรณกรรมจากอดีต ยังคงเกิดขึ้นในเชิงประจักษ์ ณ เวลาในปัจจุบัน จะต้องมีการนำเสนอหลักฐานและข้อมูลต่างๆ อีกมากมาย ต้องเสนอหลักฐานที่จับต้องได้ เพื่อจะสื่อว่าปรากฎการณ์เช่นสีดาลุยไฟ ยังคงมีอยู่ และจะแก้ไขอย่างไร

บทเรียนในอดีตกระตุ้นความคิดให้ปัจจุบันทบทวน แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันไม่สามารถจะเปลี่ยนกลับไปเป็นครั้งอดีตได้ สำนวนโวหาร ที่กล่าวว่า “ปัจจุบันเรียนรู้จากอดีต” ไม่ได้หมายถึงการให้ทำตามเหตุการณ์ในอดีต ใช้วิธีการในอดีต แต่ให้เลี่ยงความผิดพลาดต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว

โลกเปลี่ยนไปจากยุคสีดา ทศกรรฐ์ พระราม นานแล้ว และเมื่อสังคมพร้อมฟัง เปิดใจพร้อมสัมผัสความสามารถของสตรีเพศในฐานะเพื่อนมนุษย์ ฝ่ายเรียกร้องต้องนำเสนอศักยภาพของผู้หญิง สิ่งที่ผู้หญิงทำได้ไม่แพ้เพศชาย หรือเหนือกว่า ทั้งในแง่ความคิดสร้างสรรค์ สมรรถนะของสติปัญญา ไม่ใช่ออกมาครวญ ร่ำไห้ ว่าผู้หญิงในอดีตถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับเป็นภาพยนตร์แนว bukkake ที่ไม่มีวันจบ

การอ้างถึง “สีดาลุยไฟ” ราวกับสถานภาพของผู้หญิงไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลยนับจากยุคกรุงลงกา จะกลายเป็นเพียงวาทกรรมย้ำคิดย้ำทำ แต่หากชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการต่อสู้อันยาวนานไม่ย่อท้อ การตีความ “สีดาลุยไฟ” แบบโพสต์โมเดิร์น ก็จะกลายเป็นแรงบันดาลใจ ไมใช่เป็นแค่สำนวนเหน็บด้วยความแค้น

การอ้างว่า คำว่า “ประจำเดือน” เป็นคำต้องห้าม ก็เป็นสิ่งที่ไม่เป็นความจริงในปัจจุบัน เพราะไม่มีใครตั้งแง่กับคำว่า “ประจำเดือน” เช่นในอดีต และในอดีตที่มีการสงวนวาจาก็เน้นไปที่การรักษาความเป็นส่วนตัวมากกว่าในแง่ของภาษาศาสตร์

ประเด็นเรื่องศาสนสถานห้ามผู้หญิงเข้าในบางพื้นที่ สามารถมองในมุมของการสงวนสิทธิของสถานที่ซึ่งปรากฎอยู่ในทุกวัฒนธรรม และไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องประจำเดือน เช่นไม่ต้องการให้นักบวช พระ หรือพราหมณ์ เกิดเสียสมาธิในการปฎิบัติธรรม เมื่อมีเพศตรงข้ามเข้ามาในพื้นที่

ภาพผู้หญิงครึ่งตัวท่อนล่าง ทำท่าถกผ้าถุง พร้อมคำบรรยายว่า Women for Freedom and Democracy (สตรีเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย) ทำให้ตีความได้ว่า เสรีภาพคือจะถกผ้าทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องใส่ใจค่านิยมของสังคม และภาพที่สื่อนั้นเน้นไปที่เสรีภาพทางกามารมณ์ของผู้หญิงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาพเดียวกันนั้น มีคำประกอบภาษาไทยว่า “ผู้หญิงปลดแอก”


อีกภาพหนึ่งที่พบได้ในนิทรรศการนี้คือ ภาพอวัยวะเพศหญิง ที่มีคำบรรยายว่า Pussy does not define my gender (จิ๋มไม่ได้เป็นตัวกำหนดเพศภาวะของฉัน) และ Pussy is unisex (จิ๋มนั้นเป็นได้ทั้งหญิงและชาย หรือเป็นได้ทุกเพศ) ทำให้เข้าใจได้ว่า สตรีไม่ต้องการยึดติดกับอวัยวะที่ใช้ระบุเพศสภาพ หรืออีกนัยหนึ่งคือ “อย่าประเมินฉันที่อวัยวะเพศ” แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะเข้าใจได้ว่า รังเกียจอวัยวะที่ทำให้ถูกมองเห็นว่า อ่อนแอ เป็นเบี้ยล่างของเพศชาย เป็นการด้อยค่าอวัยวะเพศของตนเอง

ส่วน Pussy is unisex หรือ จิ๋มเป็นได้ทั้งหญิงและชาย นั้นยิ่งต้องตีความกันหลายชั้น และเจตนาของประโยคก็ไม่ชัดเจน แต่ unisex pussy นั้นเป็นอวัยวะเพศจำลอง (sex toy) ที่ทำด้วยยาง ใช้ได้ทั้งชายและหญิง (unisex) มีลักษณะเป็นอวัยวะเพศหญิงสมจริงสามารถสอดใส่อวัยวะเพศชายได้ แต่มีด้ามจับซึ่งมีลักษณะเป็นอวัยวะเพศชายติดอยู่ ซึ่งทำให้เพศหญิงสามารถใช้ sex toy แบบนี้ได้ด้วย แต่เจตนาที่ต้องการสื่อ น่าจะหมายถึง Pussy is agender หรือ จิ๋มไม่มีเพศ แม้ผู้หญิงจะมีจิ๋มแต่ไม่ได้เป็น “ผู้หญิง” ตามค่านิยมของสังคม หรือตามนิยามทางกฎหมาย

อีกกิจกรรมหนึ่งคือการ ระบายสีจิ๋ม โดยมีภาพลายเส้นของอวัยวะเพศหญิงแจกให้ ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมมีอิสระในการระบายสีจิ๋มได้ตามจินตนาการหรือความชอบส่วนตัว อันเป็นกุศโลบายในแนวความคิดแบบ post-structuralism (หลังโครงสร้างนิยม) โดยการมองสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ด้วยความสงสัยและไม่ยึดติด ด้วยสำนึกว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และต้องเพ่งพิจารณาให้เห็นสาระแก่นแท้ ดังนั้นการระบายสีจิ๋ม จึงเปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคล สามารถตีความจิ๋มได้อย่างอิสระ เพราะจิ๋มไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ที่ตายตัว และไม่มีข้อผูกมัดกับเพศภาวะ

“แนวคิดหลังโครงสร้างนิยม” (Post-structuralism) ไม่เชื่อในสิ่งที่ปรากฎอยู่ หรือสิ่งที่มีอยู่ และเป็นอยู่ แต่มองสรรพสิ่งว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา จึงไม่ควรมองสิ่งต่างๆ ด้วยความคิดจำกัด แต่ต้องมองให้เห็นความหมายผ่านตัวอักษรและภาพสัญลักษณ์ การได้พบความหมายอื่นนอกเหนือจากข้อความตามตัวอักษรและสัญลักษณ์แล้ว เป็นข้อพิสูจน์ว่าไม่มีสิ่งใดคงอยู่อย่างเดิม

อย่างไรก็ตาม การระบายสีจิ๋ม ไม่ใช่แนวคิดสร้างสรรใหม่ เพราะกิจกรรม vagina coloring หรือ vulva coloring (การระบายสีอวัยวะเพศหญิง) นั้น มีมาหลายปีแล้ว และมีหนังสือระบายสีจิ๋ม จำหน่าย เพื่อช่วยให้สตรีได้สำรวจ จิต ปัญญา และสลายความฝังใจ เกี่ยวกับความเป็นสตรีเพศที่ต้องเป็นหนึ่งเดียวกับภายภาพของเพศหญิง

จิตรกรหญิง Georgia O’Keeffe (1887-1986) ได้สร้างผลงานภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบขนาดใหญ่ เป็นดอกไม้นานาชนิดกว่า 200 ภาพ ในช่วงทศวรรษ 1920s-1950s ในกลุ่มภาพดอกไม้นี้ ผลงานที่กลายเป็นหัวข้อให้สังคมและนักวิจารณ์ศิลปะได้ถกเถียงกัน คือภาพดอกไม้เช่นไอริส (Iris) ที่มีลักษณะรูปทรงคล้ายอวัยวะเพศหญิง แต่ โอคีฟ ปฎิเสธเสมอว่า ไม่ได้มีแรงบันดาลใจ หรือจงใจวาดเช่นนั้น ผลงานเหล่านั้นคือดอกไม้โดยธรรมชาติ แต่การมองเห็นความหมายในภาพ ทั้งในเชิงเฟมินิสต์ สังคมวิทยา และ post-structuralism นั้นไม่เคยสูญสลาย

นอกจากกิจกรรมเกี่ยวกับจิ๋ม นิทรรศการมีการนำเสนอ ปรัชญาและแนวทางของ Feminism ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจพื้นฐาน สำหรับผู้สนใจหน้าใหม่ เช่น “เฟมินิสต์ไม่ได้เกลียดผู้ชาย” และไอเดียรวมว่าเฟมินิสต์ต้องการแก้ไขค่านิยม บรรทัดฐาน และการรับรู้ของสังคมอย่างไร ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะ feminism ปูรากฐานและแนวทางต่างๆ ไว้มากมาย ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ช่วยให้การเคลื่อนไหวของเพศสภาพและเพศวิถีอื่นๆ เช่นกลุ่ม LGBTQ ได้นำมาใช้ศึกษาและเปรียบเทียบ โดยปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็นเพศใดในสังคม การเรียกร้องสิทธิเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ต้องใช้ศักยภาพของมนุษย์เป็นอาวุธ การร้องขอ ให้เห็นความสำคัญด้วยการใช้อวัยวะเพศตลอดเวลา คือการไม่สามารถก้าวข้ามลักษณะทางกายภาพของตนเองได้ จึงยังอ้างว่า “อวัยวะเพศของฉัน ฉันมีสิทธิจะใช้มันอย่างไรก็ได้” ถ้าเชิดชูอวัยวะเพศเป็นเครื่องมือในการเรียกร้อง ผู้คนก็จะจดจำได้เพียงเป็นกลุ่ม จิ๋มเสรี มองไม่เห็นสมรรถภาพ หรือศักยภาพ

อวัยวะเพศใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อเรียกร้องความสนใจ และใช้ในการชี้ให้เห็นว่า บุคคลมีคุณค่ามากกว่าการทำหน้าที่สืบพันธุ์ แต่หากวนเวียนอยู่ที่อวัยวะเพศตลอดเวลา ในที่สุดผู้คนก็จะจำว่า คนรุ่นนี้คือ Generation Genitalia หรือเรียกย่อว่า GG.

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here