ตามรอยเส้นทางวรรณกรรม”ไซอิ๋ว”สู่”นางพญาผมขาว” (ตอนที่ 2)

0
70
ภาพขี่อูฐ

บทความ : บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์
Benchmark Media co-editor

ดิฉันแอบหัวเราะอยู่ในใจระหว่างบินจากเมืองซีอานสู่เมืองตุนหวง โอเอซีสบนเส้นทางสายไหม เมืองชายแดนของมณฑลกานสูที่อยู่ติดกับเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อจำได้เลาๆว่าโสภาค สุวรรณ หนึ่งในนักเขียนในใจของดิฉันเคยเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง ”โกบี” ว่าคำว่า”ตุนหวง”หมายถึง”หมูเค็มกลางเปลวไฟ” หรือพูดง่ายๆก็คือหมูเค็มปิ้ง เพราะเหมาะกับสภาพอากาศที่แสนร้อนระอุ สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในดินแดนแห้งแล้งสุดของแดนมังกร โดยปีหนึ่งๆมีฝนตกน้อยมาก แถมช่วงไม่กี่ปีนี้มานี้ ยิ่งแล้งเป็นพิเศษแทบไม่มีฝนตกเลย


นับเป็นบุญของดิฉันที่สวรรค์เกิดปรานี ก่อนไปถึงเพียงวันเดียว ฝนเกิดตกปรอยๆพลอยทำให้อากาศเย็นสบายขึ้น มิฉะนั้นดิฉันก็คงเป็นหมูเค็มกลางเปลวไฟตัวจริงเสียงจริง เสียแต่หาข้าวเหนียวมาจิ้มกินไม่ได้เท่านั้น เมืองตุนหวง เป็นเมืองที่มีขนาดเล็กมาก แต่ก็มีร่องรอยของการขยายเมืองออกไป มีการปลูกพืชผักเป็นแนวยาวตัดกับผืนทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา ราวกับเป็นเกาะกลางทะเลทรายไม่มีผิด เนื่องจากมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ด้วยอาศัยน้ำจากหิมะบนภูเขาสูงที่ละลายกลายเป็นลำธารไหลมาตามช่องเขาไว้สำหรับการเกษตรและสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ถึงจะเป็นเวลาร่วมห้าโมงเย็น แต่แดดก็ยังร้อนจ้า เผาผิวหนังจนแสบร้อนไปหมด กระนั้น ดิฉันยอมกัดฟันทนไปขี่อูฐชมวิวที่ทะเลทรายหมิงซาซันและทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว

หนึ่งในสถานที่ที่ดิฝังใจมานาน นับตั้งแต่ได้ชมภาพยนตร์จากจีนที่นำมาฉายในไทยในยุคแรกๆหลังสถาปนาความสัม พันธ์ทางการทูตกันใหม่ๆ เป็นเรื่องในรัชสมัยพระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้ ที่ยอมส่งเจ้าหญิงเวนเชงหรือเหวินเจิง พระราชธิดาองค์โปรดไปอภิเษกสมรสกับกษัตริย์ซองต์เซน กัมโป ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สามารถรวมอาณาจักรทิเบตตอนใต้และตอนกลางเข้าด้วยกันได้สำเร็จในราวศตวรรษที่ 6 ซึ่งสมัยนั้นยังถือเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ห่างไกล ระหว่างทางมีโจรร้ายมาลักพาตัวเจ้าหญิง แต่กษัตริย์หนุ่มซองต์เซน กัมโป ผู้ปลอมตัวเป็นพ่อค้าหวังจะเดินทางมาดักรอยลโฉมเจ้าหญิงก่อนได้เข้าไปช่วยเหลือทัน โดยฉากการต่อสู้ที่งดงามอยู่ที่ทะเลทรายหมิงซาซันและทะเลสาบจันทร์เสี้ยวแห่งนี้นี่เอง


นับเป็นภาพยนตร์ที่สุดแสนโรแมนติกจนยากจะลืมเลือน ยิ่งได้อ่านนวนิยายเรื่อง”โกบี” ของโสภาค สุวรรณ ด้วยแล้ว เมืองแห่งหมูเค็มกลางเปลวไฟ จึงเป็นหนึ่งในเมืองไม่กี่เมืองที่ดิฉันปรารถนาจะไปสัมผัสมากที่สุดแม้ชื่อจะชวนหิวมากกว่าชวนดูก็ตาม
ว่ากันว่าเนินทรายหมิงซาซัน มีทรายหลากสีสันสะท้อนเป็นสีรุ้งเลื่อม ถึง 5 สี คือ สีแดง เหลือง เขียว ขาว ดำ แต่ดิฉันมองยังไงๆก็มีสีเดียวคือสีขาวนวลของทรายร่วนละเอียด เนียนนุ่มที่ปลิวคลุ้งตลอดเวลา ผิดกับทรายที่ทะเลทรายไซนาย ซึ่งเนื้อหยาบแข็ง ดูสกปรก ไม่ชวนสัมผัส แม้ว่าทะเลทรายทั้ง 2 แห่งจะเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณเหมือนกัน


ที่ไม่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งก็คืออูฐหรือสำเภาทะเล ที่ตุนหวงนั้น มี 2 หนอก และมีขนยาวเป็นพิเศษ แถมยังขี่สบาย เพราะหนอกทั้ง 2 หนอกกลายเป็นที่นั่งอย่างดี ไม่ต้องกลัวว่าตัวจะไหลลงหากนั่งไม่มั่นเหมือนคราวขี่อูฐที่ไซนาย ทางการจีนเองคุยอวดว่ามีที่จีนเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในโลกนี้ที่อูฐมี 2 หนอก จริงเท็จไม่ประจักษ์ ประจักษ์อย่างเดียวว่าอูฐที่ไหนๆก็เหมือนกัน คือมีอันตรายมากต้อนขึ้นและลง เนื่องจากอูฐตัวสูง จังหวะที่ย่อลงจึงมี 2 จังหวะ หดขาก่อนแล้วค่อยคุกเข่า ใครไม่ทันระวัง มีอันหน้าคะมำได้


ความที่เนินทรายสูงแห่งนี้สวยจนยากบรรยาย ดิฉันถึงกับฝันอยากจะแปลงร่างเป็นเหยี่ยวเพื่อจะได้ทอดทัศนาดูภูมิประเทศจากมุมสูงให้สมอยาก ดูเนินสันทรายซ้อนเหลื่อมเป็นแนวสูงลดหลั่นกันไป ตัดกับฟ้าสวยสีครามใส เป็นประกายเมื่อต้องแสงอาทิตย์ รู้มาว่าที่นี่มีสันเนินทรายร้องเพลงได้ แต่บางคนกลับฟังเป็นเม็ดทรายร้องไห้หรือลุ่ยอิง อันเกิดจากเสียงทรายร้องสะท้อนก้องลงมา แต่จะได้ยินเฉพาะผู้ที่ยืนถูกเหลี่ยมถูกมุมแค่ทิศเดียวเท่านั้น ยิ่งดึกทรายก็ยิ่งร้องดังเหมือนกับคนรัวกลอง แต่ความที่มีนักท่องเที่ยวมาก แต่ละคนจะกรีดร้องเสียงดังก้องเวลาเล่นสกีทรายไถลตัวลงมาจากเนินทรายสูง ดิฉันจึงพลาดโอกาสงามไม่ได้ฟังเสียงทรายร้องเพลงนั้น น่าเสียดายเป็นที่สุด


ตรงข้ามกับภูเขาทรายแหว่งเว้าใกล้ๆกันนั้นมีทะเลสาบจันทร์เสี้ยวหรือครึ่งเสี้ยว หรือสระน้ำวงพระจันทร์แล้วแต่จะเรียก เป็นบ่อน้ำผุดที่ไม่เคยเหือดแห้งแม้จะอยู่กลางทะเลทรายทั้งที่มีความลึกเฉลี่ยเพียง 6 เมตรเท่านั้น น้ำสีเขียวจัดเป็นมรกต สะท้อนประกายวาววับเมื่อต้องแสงแดดแรงกล้าแม้จะอยู่ในช่วงเริ่มค่ำแล้ว แถมยังเย็นจัดตัดกับอากาศที่ร้อนระอุ ล้อมรอบด้วยกอไม้คล้ายต้นกกสลับกับยอดหญ้าที่ไหวพริ้วไปตามลมอ่อนๆของทะเลทราย ดอกไม้เล็กๆเบียดเป็นช่อ


รู้มาว่าทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวเป็น 1 ใน 8 ของทิวทัศน์ตุนหวง ที่มีการพรรณาว่ามีแต่สวรรค์เท่านั้นที่จะสามารถสรรสร้างทะเลสาบจันทร์เสี้ยว เพราะกำเนิดอยู่กลางทะเลทรายได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ที่สำคัญก็คือน้ำที่เย็นเฉียบแม้ในเวลากลางวันนั้นจืดสนิทแถมจนมีรสหวานอีกด้วย เสียดายที่ไม่ได้ทดลองชิม เพราะเห็นนักท่องเที่ยวหลายคนสู้ทนหนาวยืนย่ำตรงชายน้ำเพื่อจะถ่ายรูปวิวสวยๆ ดิฉันกลัวจะได้รสปร่าของรอยเท้าแทนรสหวานสนิทของน้ำ เลยยอมหักห้ามหักความอยากรู้อยากเห็นนั้น


หลังค่ำแต่แดดยังไม่ลับฟ้าเสียที ดิฉันยืนอำลาเนินทรายและสระโบกขรณีกลางทะเลทรายแห่งนี้ด้วยความอาลัยปนสะท้อนใจอยู่ลึกๆที่ความเจริญได้หยั่งรากเข้ามายังดินแดนโบราณแห่งนี้แล้ว จนทำให้กองคาราวานอูฐ ซึ่งเคยเคลื่อนตัวไปช้าๆตามแนวสันทรายที่โค้งไปมานับร้อยนับพันปีได้เลือนลับหายไปกับกาลเวลา เหลือเพียงคาราวานอูฐสำหรับนักท่องเที่ยวเพียงไม่กี่สิบตัวเท่านั้น


นอกเหนือจากมีธรรมชาติอันงามงดไม่เหมือนใคร ตุนหวงยังขึ้นชื่อในเรื่องของอารยธรรมโบราณ โดยเฉพาะที่เชียนโฟต้งหรือถ้ำพระพุทธรูปพันองค์ อันเป็นถ้ำพุทธศาสนาขนาดใหญ่ที่สุด สมบูรณ์ที่สุด รักษาไว้ครบถ้วนที่สุดในโลก ถือเป็นเป็นโบราณวัตถุที่มีค่าทางด้านวัฒนธรรมที่สำคัญของจีน สมกับที่องค์การยูเนสโกประกาศเมื่อปี พ.ศ.2531 ให้เป็นมรดกโลกที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง ถ้ำนี้ มากด้วยปฎิมากรรมและจิตรกรรมฝาผนังมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี มีคูหาใหญ่น้อยรวมทั้งหมด 735 คูหา แต่มีคูหาที่มีภาพเขียนหรือจิตรกรรมฝาผนังของจิตรกรและช่างหลายยุคหลายสมัย แค่ 492 คูหา คิดเป็นพื้นที่ 45,000 ตารางเมตร ในจำนวนนี้มีเพียง 70 คูหาเท่านั้นที่เปิดให้เข้าชมได้ นอกจากนี้ยังมีปฏิมากรรมอีก 2,415 องค์


ในส่วนของประวัติถ้ำโบราณแห่งนี้ กล่าวกันว่าคูหาต้นๆ เป็นผลงานบุกเบิกของพระสงฆ์เล่อจุน ในปี พ.ศ. 919 ส่วนคูหาสุดท้ายเพิ่งมีการขุดค้นในสมัยราชวงศ์หงวนหรือหยวน เชื้อสายมองโกลของเจ็งกีสข่านที่ปกครองจีนนานกว่าร้อยปี ก่อนจะถูกจูหยวนจางล้มแล้วตั้งราชวงศ์หมิงหรือเหม็งขึ้น ใครอยากทราบประวัติศาสตร์ยุคนี้ก็ต้องอ่านเรื่อง”มังกรหยก”ภาค 1และภาค 2 ของกิมย้ง ต่อด้วยเรื่อง”เทพมารสะท้านภพ”ของหวงอี้ หรือถ้าจะอ่านคำพรรณาความงาม ประวัติศาสตร์ ผสมผสานกับความรักและความหม่นเศร้าล้ำลึกก็ต้องอ่านจากเรื่อง”โกบี”ของโสภาค สุวรรณ


และยิ่งเศร้ามากขึ้นเมื่อรู้ว่าเซอร์ ออเรล สไตน์ ผู้พบถ้ำนี้เมื่อต้นศตวรรษที่ 19 ได้ลักลอบขนเอาโบราณวัตถุ ตลอดจนเอกสาร ม้วนกระดาษบันทึกภาพและตัวอักขระโบราณที่ไม่มีคนจีนคนใดสามารถอ่านออกได้กลับประเทศนับหมื่นชิ้นจากที่คาดว่าพบกว่า 30,000 ชิ้น ปัจจุบันหลงเหลือเป็นสมบัติของประเทศแค่ 9,000 กว่าชิ้น บางคูหาที่เข้าไปชมมีร่องรอยของการตัดเอาภาพจิตรกรรมฝาผนังออกไปเป็นส่วนๆ จนทางการต้องบูรณะใหม่ด้วยการวาดของปลอมลงไป หรือตั้งภาพจริงที่ถ่ายจากที่อยู่ในปัจจุบันใส่กรอบไปวางไว้ข้างๆ

แต่ละคูหาที่เข้าชม ดิฉันก็น้อมจิตคารวะศาสนิกชนและนายช่างผู้ศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างลึกซึ้งทุกคนที่สามารถสรรค์สร้างถ้ำพระพุทธรูปพันองค์นี้ได้ราวกับจำลองมาจากสวรรค์ เพดานถ้ำมีลวดลายวิจิตรพิศดาร โดยเฉพาะภาพนางฟ้าแบบเอเชีย ซึ่งจะไม่มีปีกแบบนางฟ้าฝรั่ง แต่สามารถเหาะเหินด้วยผ้าแพรพรรณหลากสีได้อย่างงดงาม อ่อนช้อย ราวกับล่องลอยไปตามสายลมแผ่งเบา
ที่ดิฉันใจจดใจจ่ออยากชมมากที่สุดก็คือถ้ำพระใหญ่ที่สุด 2 ถ้ำสุดท้าย เพราะทราบมาว่าเป็นพระพุทธรูปที่พระนางบูเช็กเทียน หรืออู่เจ๋อเทียน

จักรพรรดินีหญิงพระองค์แรกและพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์แดนมังกรได้สร้างขึ้น โดยมีเค้าพระพักตร์ละม้ายพระองค์ท่าน นักประวัติศาสตร์บางคนให้ความเห็นว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะมีคติธรรมแฝงอยู่นั้นก็คือพระนางต้องการให้อนุชนรุ่นหลังได้กราบไหว้บูชา โดยไม่รู้ว่าเท่ากับกราบไหว้พระนางเธอในฐานะพระโพธิสัตว์ที่จะกลับมาเกิดเป็นพระศรีอาริย์ หรือพระพุทธเจ้าในอนาคต
ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือพระนางเธอ ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการสรรค์สร้างยุคทองของเส้นทางสายไหม กลับถูกนักประวัติศาสตร์จีนใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นจักรพรรดินีกระหายเลือดและมากสวาท เนื่องจากรังเกียจว่าเป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวที่แปลกปลอมอยู่ในประวัติศาสตร์อันไม่อาจลบหายไปได้ และพระนางผู้มีความคิดยาวไกลได้ทรงทิ้งศิลาจารึกประวัติของพระนางให้ว่างเปล่าไว้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังเป็นผู้ตัดสินเองว่าพระนางเป็นบุคคลเยี่ยงไร

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here