ตามรอยเส้นทางวรรณกรรม”ไซอิ๋ว”สู่”นางพญาผมขาว” (จบ)

0
68
ภาพขี่อูฐ

บทความ : บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์
Benchmark Media co-editor

ทะเลสาบเทียนฉือหรือทะเลสาบสวรรค์หรือในสมัยโบราณเรียกว่าหยาวฉือ จุดท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในใจกลางเทือกเขาเทียนซาน ล้อมรอบด้วยขุนเขาหิมะทั้ง 4 ทิศ ตลอดเส้นทางราว 2 ชั่วโมงจากอุรุมชีสู่ทะเลสาบเทียนฉือ จะตัดผ่านทะเลทรายกว้างโล่งสุดลูกหูลูกตา สลับกับซากหมู่บ้านโบราณสร้างด้วยดินที่ทางการจีนจำต้องปล่อยให้ทรุดโทรมหรือพังทลายโดยไม่ซ่อมแซม เหตุผลสำคัญไม่ใช่เพราะมีหมู่บ้านโบราณนับร้อยๆแห่ง แต่เป็นเพราะไม่อาจสู้กับลมฟ้าอากาศรุนแรงได้ไหว จึงไม่คุ้มที่จะซ่อมแซมบ้านดินเพื่อให้ตกเป็นเหยื่อของภูมิอากาศอีก ยิ่งใกล้ถึงที่หมาย สองข้างทางมีแต่ภูเขาทรายที่จับแข็งดุจหินหรือดินแข็งซ้อนเหลื่อมขึ้นไปเรื่อยๆลูกแล้วลูกเล่าราวกับรังปลวกกองสูงเป็นภูเขาสูงชันมีแต่รอยเหลื่อมซ้อนผ่านเป็นร่องยาวเหมือนรอยน้ำป่าไหล แผดเผาด้วยแสงอาทิตย์อันร้อนระอุ ปราศจากที่กำบังหรือร่มเงาพอที่จะหลบร้อนได้บ้าง


ดิฉันอดหัวเราะในใจไม่ได้ เมื่ออ่านหนังสือบู๊ลิ้มหรือดูภาพยนตร์กำลังภายในทีไร คนร้ายมักจะตามพบพระเอกหรือนางเอกที่หนีกระเซอะกระเซิงไปตามเทือกเขาเทียนซานอันกว้างใหญ่ได้ง่ายๆทุกครั้ง เหมือนกับกำลังไล่ล่าบนถนนหลวงในเมืองใหญ่ แต่จากภูมิทัศน์ที่เห็นนั้น ดิฉันมองหาเส้นทางขึ้นเทียนซานไม่ได้เลย แต่ข้อสงสัยที่ว่าแต่ก่อนนั้นบรรดาจอมยุทธิ์เดินขึ้นเขาเทียนซานได้อย่างไร ยังไม่น่าสงสัยเท่ากับว่าพระเอกที่เป็นยอดยุทธิ์ปืนขึ้นภูเขาเทียนซานที่อยู่ในแนวเดียวกับภูเขาหิมาลัยวันละเกือบสิบรอบได้อย่างไรโดยไม่เหนื่อยตายเสียก่อน


ตำนานของทะเลสาบเทียนฉือ ถือเป็นอีกหนึ่งตำนานของโศกนาฏกรรมอันเนื่องด้วยรักระหว่างเจ้าแม่ซีมู่หวางกับโจวมู่หวางผู้มาจากภาคตะวันตกไกล ผู้ซึ่งให้สัญญาว่าจะควบม้าผ่านทะเลทรายและขุนเขาอันยะเยือกกลับมาหาในอีก 3 ปีให้หลัง ซีมู่หวางก็เหมือนกับหญิงทั่วไปที่ชอบหลงคารมชายจึงได้แต่ชะเง้อคอรอคอยด้วยความโศกเศร้าจวบจนวันตายก็ไม่ได้พบหน้าชายคนรักอีกเลย
ส่วนอีกตำนานหนึ่งกล่าวกันว่าที่นี่เป็นสถานที่พระแม่เจ้าอ๋องมู่เชิญบรรดาเซียนวิเศษทั้งหลายให้รับประทานผลท้อเซียนอันหอมโอชะ ดิฉันไม่แน่ใจว่าเป็นต้นท้อต้นเดียวกับที่เห้งเจียเคยขโมยกินผลท้อจนหมดต้นแถมยังอาละวาดจนสวรรค์แทบถล่มทลายหรือไม่
เมื่อมาถึงจุดเปลี่ยนรถเพื่อเดินทางขึ้นเขา โชคร้ายก็เป็นของดิฉันอีกตามเคยสมกับที่เกิดวันพุธกลางคืนโดยแท้ เพราะกระเช้าไฟฟ้าที่จะนั่งขึ้นไปชมทะเลสาบนั้นเกิดมีเหตุให้ต้องปิดซ่อม เลยไม่ได้แปลงร่างเป็นพญาเหยี่ยวบินชมวิวทิวทัศน์จากเบื้องสูงหรือไม่ได้เหยียบปุยเมฆขาวอย่างที่ฝันไว้ แต่คิดอีกที สวรรค์ก็ยังปราณีเพราะถึงจะต้องนั่งรถยนต์แทน ดิฉันก็มีโอกาสได้เห็นวิวทิวทัศน์ในอีกมุมหนึ่งที่ยากจะพบพาน ทุกโค้งของถนนที่คดเคี้ยวไปตามแนวภูเขาใหญ่ซึ่งมีดงสนสูงทะยานเสียดฟ้า วิวทิวทัศน์จะเปลี่ยนไปจนถ่ายรูปแทบไม่ทัน แล้วทันทีทันใด ภาพของทะเลสาบน้ำสีเขียวมรกตก็ปรากฎขึ้นราวเทพนิรมิต ธรรมชาติอันแสนสวยงามที่ดิฉันเคยพานพบมาก่อนหน้าถึงกับชิดซ้ายไปเลย


นับเป็นดินแดนแห่งนรก-สวรรค์พร้อมสรรพโดยแท้ ด้านหนึ่งร้อนจัดราวนรกด้วยเป็นทะเลทรายที่สุดแสนแห้งแล้ง อีกด้านหนึ่งกลับเป็นสวรรค์บนดิน ในรูปของทะเลสาบเขียวมรกตตัดกับท้องฟ้าที่ฟ้าจัด สลับกับแนวสนอันเขียวครึ้ม ไกลออกไปเป็นเทือกเขาที่มีหิมะปกคลุมชั่วนาตาปี เป็นภาพที่สุดจะบรรยายจริงๆระหว่างนั่งเรือล่องไปตามทะเลสาบอย่างช้าๆ ชื่นชมทิวทัศน์อันเงียบสงบและเย็นสบาย

จุดสุดท้ายในซินเกียงที่ดิฉันสุดแสนจะตื่นเต้นที่ได้ไปชมก็คือซากเมืองโบราณเกาชางแถบเทือกเขาเทียนซานที่ถูลู่ฟาน หรือในภาษาอุยกูร์เรียกว่า”นครตูฮู”ที่แปลว่า”มหานคร” อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรหุยฮู-เกาชาง อันเป็นอีกชื่อหนึ่งที่แสนจะคุ้นหูมานานในฐานะที่เป็นเมืองโอเอซีสหรือเกาะกลางทะเลทรายบนเส้นทางสายไหม เนื่องจากมีชัยภูมิเป็นเลิศ”อยู่ในที่สูงและประชาชนสมบูรณ์มั่งคั่ง” แถมยังวางผังเมืองเลียนแบบนครฉางอัน เมืองหลวงของอาณาจักรต้าถัง โดยแบ่งเป็น 3 ชั้นคือเมืองชั้นนอก เมืองชั้นใน และเขตพระราชฐาน ว่ากันว่าในช่วงยุคทองนั้นมีคนอยู่ถึง 30,000 คน ไม่นับรวมพระสงฆ์อีก 3,000 รูป ก่อนจะล่มสลายในปลายศตวรรษที่ 13 จากไฟสงครามที่โหมมานาน ที่ดิฉันขำลึกๆอยู่ในใจก็คือเมืองร้างเมืองนี้ซึ่งปลูกสร้างบนเนินสูงไม่มีต้นไม้สักต้นเดียวแล้วคนจะอยู่ได้อย่างไรนานถึง 1,400 ปีทีเดียว

เมืองโบราณแห่งนี้ นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ในภาคตะวันตกรองจากมหานครกูชิและเมืองยี่หลูแล้ว ยังเป็นเมือง 3 ที่สุดในแดนมังกรอีกด้วย สุดแรกก็คือเป็นเมืองที่ลุ่มต่ำที่สุด โดยต่ำจากระดับน้ำทะเล 154.43 เมตร สุดที่สองก็คือเป็นเมืองที่ร้อนและแห้งที่สุด โดยในแต่ละปีจะมีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียสถึงกว่า 100 วัน แถมยังเคยสร้างสถิติร้อนสูงสุดถึง 49.6 องศาเซลเซียส และสุดที่สามก็คือเป็นเมืองที่มีลมแรงสุด จนสามารถตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังลมได้หลายแห่ง
เพียงปราดแรกที่เห็นซากเมืองโบราณเกาชางซึ่งมีพื้นที่ถึง 2 ตารางกิโลเมตร สร้างโดยชาวหุยเฮอ บรรพบุรุษของชาวอุยกูร์ในปัจจุบัน เคยรุ่งเรืองขีดสุดในสมัยพระเจ้าถังไท่จงและพระนางบูเช็กเทียน จักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งอาณาจักรต้าถัง จนเรียกกันว่าเป็นช่วงยุคทองของเส้นทางสายไหมและเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาแถบตะวันตก ห้วงสมองของดิฉันก็พรั่งพรูไปด้วยประวัติศาสตร์และฉากทะเลทรายอันลึกลับ งดงาม และหฤโหด เต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือดและการต่อสู้ของลูกผู้ชายผู้หวังจะฝากชื่อไว้ในแผ่นดิน ที่ปรากฎเป็นฉากๆในหนังสือเรื่องเหยี่ยวนรกทะเลทรายของโกวเล้ง เรื่องเจาะเวลาหาจิ๋นซี เรื่องมังกรคู่สู้สิบทิศและเรื่องจอมคนแผ่นดินเดือดของหวงอี้ ก่อนจะสิ้นสุดที่เรื่อง”ไซอิ๋ว” และไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงมีภาพจากหนังสือ”เพชรพระอุมา”ของพนมเทียนและภาพจากภาพยนตร์เรื่อง”ขุมทองแมคเคนนา”เข้ามาแทรกด้วย

ระหว่างเดินไปตามทางเดินที่ทางการจัดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าไปเหยียบย่ำจนอาจจะทำลายโบราณวัตถุแห่งนี้ซึ่งไม่ว่าจะมองมุมไหนก็คล้ายกับแกรนด์แคนยอนในสหรัฐผสมกับแพะเมืองผีที่จังหวัดแพร่ จะว่าบ้าก็ยอมเพราะเกิด”อิน”กับสารพัดเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่เคยรู้มา หูถึงแว่วเสียงอาวุธปะทะกัน เสียงของผู้คนกำลังต่อรองสินค้า และเสียงเด็กร้องไห้ ยิ่งตอกย้ำถึงความสวยงาม น่ากลัว และความตายของนครโบราณแห่งนี้

จากซากป้อมค่ายที่ถูกทิ้งรกร้างที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้าได้บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของคนโบราณที่สามารถเอาชนะธรรมชาติอันแสนโหดร้ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อมีร่องรอยการขุดบันไดดินทอดเชื่อมต่อห้องใต้ดินหลายห้อง รวมทั้งห้องพักของบรรดาขุนศึกและพลทหาร ที่ต้องแปลงร่างเป็นตัวตุ่นอยู่ใต้ดินเพื่อหลบความร้อนและขณะนี้ยังสามารถรักษาสภาพเดิมไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางมุมตะวันตกเฉียงใต้ของซากเมืองโบราณแห่งนี้ได้ปรากฎร่องรอยซากวัดและซากเจดีย์ใหญ่อยู่ยืนยันถึงความเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในแถบนี้ก่อนจะเปลี่ยนเป็นอิสลามในภายหลัง ใกล้ๆกันนั้นเป็นหลุมศพของเด็กเกาชางราว 400 คน ซึ่งไม่มีหลักฐานบ่งบอกถึงสาเหตุการตายว่ามาจากอะไรจากโรคระบาดหรือความอดหยากจากผลพวงของสงคราม


ภูมิปัญญาของคนโบราณอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้และทำให้เมืองนี้กลายเป็นเกาะกลางทะเทรายมาก่อนก็คือการรู้จักสร้างระบบชลประทานใต้ดินหรือระบบส่งน้ำเก่าแก่ที่ใช้ในทะทรายโบราณ หรือคานเอ๋อจิ่ง ด้วยการขุดท่อใต้ดินเพื่อนำน้ำที่ละลายจากหิมะและน้ำแข็งบนภูเขาสูงลงมายังที่ราบแถบโอเอซีส โดยไม่ระเหยกลายเป็นไอในช่วงฤดูร้อน นับเป็นงานก่อสร้างอันยิ่งใหญ่ที่สุด หนึ่งในสามสิ่งมหัศจรรย์ของจีนโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันพอๆกับกำแพงเมืองจีน โดยระบบชลประทานใต้ดินของถูลู่ฟานประกอบด้วย 4 ส่วน ลึกที่สุดถึงกว่า 90 เมตร ปรกติยาว 3-8 กิโลเมตร ยาวที่สุดถึงกว่า 10 กิโลเมตร รวมทั้งหมดมี 1,237 สาย แต่ใช้ได้เพียง 853 สาย ยาวถึงกว่า 5,000 กิโลเมตร ปัจจุบันแห้งไปแล้วราวครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งยังคงใช้การได้ดี ใช้หล่อเลี้ยงที่นาหรือการทำสวนแตงฮามเมลอนและผูเถาถูลู่ฟาน ที่ชาวเมืองต่างคุยอวดเหมือนๆกันว่าเป็นแตงหวานที่สุดในโลก


ก่อนอำลาอาลัยซินเกียง ดิฉันได้ไปสัมผัสจุดที่ถือว่าร้อนที่สุดในโลกและเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางวรรณกรรมมุ่งสู่ตะวันตกหรือไซอิ๋วก็คือฝอเยี่ยนซาน หรือ ภูเขาเพลิงหรือภูเขาเปลวไฟ อันเป็นสถานที่ที่เห้งเจียได้ต่อสู้กับปิศาจกระทิง ระหว่างนั้นต้องใช้สารพัดกลอุบายเพื่อแย่งชิงพัดวิเศษจากองค์หญิงพัดเหล็กเมียจอมหึงของปิศาจกระทิงมาดับไฟที่ภูเขาเพลิงลูกนี้เพื่อให้พระถังซำจั๋งได้เดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่อินเดีย แต่ขนาดเห้งเจียพัดไอร้อนให้คลายลงไปมากแล้ว วันที่ดิฉันไปถึงนั้น อุณหภูมิยอดหญ้ายังปาเข้าไปถึง 56 องศา จนไขมันในตัวแทบจะเดือดละลาย


อันที่จริงภูเขาเพลิงมีลักษณะเป็นเขาหินสีอิฐแดงทั้งลูกเนื่องจากเต็มไปด้วยแร่เหล็กนั่นเอง ไม่มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นแม้แต่ต้นเดียว มองแต่ไกลจะเห็นเป็นสีเพลิงคล้ายไฟกำลังลุกไหม้หุบเขา ถึงได้ร้อนและแห้งผากจนไม่มีใครอยู่กลางแดดได้นานนักนอกจากรีบๆถ่ายรูปเป็นที่ระลึกแล้วก็รีบหลบเข้ามาในตัวอาคารอันเย็นฉ่ำด้วยเครื่องปรับอากาศเนื่องจากได้ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เห้งเจีย ที่น่าสนใจก็คือภายในพิพิธภัณฑ์ได้ทำรูปปั้นของนักสำรวจโบราณชาวตะวันตกมาประจานจนชั่วลูกหลานบอกให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงเรื่องราวที่นักสำรวจเหล่านั้นได้ขโมยศิลปวัตถุและจิตรกรรมฝาหนังโบราณที่ขุดพบในบริเวณนี้ไป โดยบรรยายเสร็จสรรพว่าเป็นใครมาจากไหนขโมยไปเมื่อใด


หลังจากได้สัมผัสกับสถานที่ที่ปรากฎว่าวรรณกรรมจีนสมปรารถนาแล้ว ดิฉันก็บินออกจากซินเกียงด้วยความอาลัยมุ่งหน้าไปยังกรุงปักกิ่ง และได้มีโอกาสเห็นสถานที่ที่ฮ่องเต้ฉงเจิน จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์เหม็งทรงผูกพระศอตายใต้ต้นไม้ที่อุทยานหลวงเหมยซาน หรือปัจจุวัดก็คือวัดจิ่งซาน ดังปรากฎในเรื่องเพ็กฮวยเกี่ยม อุ้ยเสียวป้อและในละครโทรทัศน์เรื่อง”ศึกสองนางพญา”
เป็นอันจบการตามรอยเส้นทางวรรณกรรมจีนด้วยความสนุกสนานเพราะได้เห็นทั้งประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ของจีนสมัยราชวงศ์ต้าถังจนจบลงด้วยการตกเป็นของแมนจู

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here