ชื่ออาหารกับตัวนำตัวตาม

ชื่ออาหาร ไม่มีข้อบังคับตายตัว ว่าจะต้องใช้ตัวอักษรนำตัวใหญ่ หรือตัวเล็ก ขึ้นอยู่กับเจตนาในการใช้  ถ้าจะสั่ง tournedos Rossini ย่อมต้องใช้อักษรตัวนำ (capital letter) ตรงชื่อ Rossini เพราะเป็นชื่อเฉพาะ ส่วนคำ tournedos หมายถึง เนื้อสันในส่วนกลางที่ตัดได้ชิ้นกลม (middle cut tenderloin) เป็นความหมายทั่วไป ไม่ต่างจาก เนื้ออกไก่ (chicken breast) หรือสะโพกไก่ (chicken thigh) อาหารยอดนิยมอย่าง mac cheese หมายถึง macaroni and cheese ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อักษรนำตัวใหญ่แต่อย่างใด แค่บอกวัตถุดิบ.

อาหารที่รู้จักกันทั่วไป เช่น hamburger, burger, sandwich ไม่ใช้อักษรนำตัวใหญ่ แต่ Big Mac เป็นชื่อเฉพาะจดทะเบียนการค้า ถึงจะรู้จักกันทั่วไป ก็ใช้ตัวนำใหญ่

Tom Yum Goong หรือ tom yum goong (หรือสะกด tom yum kung) ฝรั่งก็ใช้ตัวอักษรสลับกันไปทั้งอักษรนำตัวใหญ่และตัวเล็กตามความชอบ ต้มยำกุ้ง เป็นทีรู้จักกันอย่างแพร่หลายในต่างแดนมานานกว่า 50 ปี โดยเฉพาะในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ขอบคุณจาพนม ที่ทำให้ร้านอาหารไทย ไม่ต้องบอกว่า spicy lemongrass soup อีกต่อไป ใครๆ ก็รู้จักต้มยำกุ้งสุดอร่อยของไทย แต่ช้างของจาพนม มีชื่อว่า “ต้มยำกุ้ง” เป็นชื่อเฉพาะ ต้องเขียนว่า Tom Yam Kung ใช้อักษรนำ เช่นเดียวกับชื่อบุคคล

ดังนั้นชื่ออย่าง pad Thai ยังไงคำว่า Thai หากหมายถึงประเทศไทย หรือคนไทย ก็ต้องเขียนตัวนำ Thai แต่ถ้าจะเอาแต่เสียง “ผัดไทย” เพื่อหมายถึงลักษณะส่วนผสมและวัตถุดิบที่จะใช้ในการทำอาหารจานนี้ จะเขียน pad thai ก็ได้ ลองเทียบกับคำว่า Chinese noodle ไม่มีใครเขียน chinese noodle หรือ Japanese ramen ก็เช่นกัน ไม่มีใครเขียน่ japanese และไม่มีใครเขียน american breakfast หรือ german sausage โดยไม่ใช้ตัวนำในชื่อประเทศ.

Neapolitan pizza และ Yorkshire pudding ใช้ capital letter กับคำว่า Neapolitan และ Yorkshire แต่  boeuf bourguignon (เนื้อไวน์แดง) และ chicken cordon bleu ไม่มีส่วนไหนของคำเป็นชื่อเฉพาะ (cordon bleu ไม่ได้หมายถึงชื่อโรงเรียนสอนทำอาหาร แต่แปลว่ายัดไส้ชีส) ดูการใช้อักษรนำตัวใหญ่ แล้วเปรียบเทียบกับ tandoori chicken (ไก่ย่างเตาทันดูร์), laksa (ก๋วยเตี๋ยวแกงของมาเลเชีย), pho (เฝอ),  brätwurst ( brät แปลว่าเนื้อบด), lasagna, spaghetti, sushi, adobo, marmalade pudding (ไก่หมักตุ๋นฟิลิปปินส์), coq au vin (ไก่ตุ๋นไวน์) ไม่จำเป็นต้องใช้อักษรนำ แต่ coq au Champagne (ไก่ตุ๋นแชมเปญ) ต้องใช้อักษรนำในคำว่า Champagne การใช้อักษรนำตัวใหญ่ เป็นการระบุชาติ อัตลักษณ์  อัตภูมิศาสตร์ หรือเป็นชื่อเฉพาะที่จดทะเบียน เช่น Big Mac .

แต่ถ้าชื่ออาหาร นำไปใช้ในลักษณะ headline บทความ จะนิยมใช้ในลักษณะ capitalized ใช้อักษรนำตัวใหญ่ เพราะเด่นกว่า เน้นกว่า แต่ถ้าไม่เน้นอะไรเป็นพิเศษ ก็ไม่จำเป็น เช่น; I ordered a tom yum kung. หรือ Why don’t  you try gaeng kiow wahn? หรือ Paul said massamun curry in Thailand was more delicious than elsewhere..

พจนานุกรมอาหาร สารานุกรมอาหาร และ dictionary อื่นๆ ก็ไม่ใส่ capital letter กับคำว่า pad thai มานานแล้ว แต่บอกไว้ว่า “สะกดด้วยตัว T ใหญ่เช่นกัน” ไม่มีพจนานุกรมเล่มไหน ที่เป็น benchmark ตัดสินว่า ต้องใช้ตัวใหญ่หรือตัวตาม ยกเว้นชื่อเฉพาะ และการใช้อักษรตัวตาม ไม่ได้เปลี่ยนสถานภาพของคำ ทั้งทางวัฒนธรรม สังคม การเมือง หรือการยอมรับจากชาวโลกแต่อย่างใด.

ชื่ออาหาร การแสดงทางวัฒนธรรม ชื่อสรรพสัตว์ในแต่ละภูมิภาค ชื่อเรียก ลม และพายุ ชื่อสิ่งของที่ใช้เฉพาะประเพณี ของแต่ละถิ่น กริยาท่าทาง เช่นการไหว้ การกราบ ท่านั่งพับเพียบ งานโกนจุก และอื่นๆ ถูกจัดให้เป็น “คำเฉพาะวัฒนธรรม” (culture specific word) และไม่มีกฎเกณฑ์ หรือบรรทัดฐานใดๆ เกี่ยวกับการใช้ อักษรตัวนำ (capital letter) ยกเว้นชื่อเฉพาะ เช่น The Alps, Doi Inthanon, Hurricane Katrina หรือเทศกาลเฉพาะเจาะจง เช่น Christmas, Hanukka (เทศกาลแสงเทียนของชาวยิว), Loy Krathong และ Songkran.

การที่ชื่อของอาหาร เขียนด้วยตัวอักษรตัวนำ (uppercase) หรือตัวตาม (lowercase) ไม่เกี่ยวข้องกับสถานภาพความนิยมต่ออาหาร ไม่ใช่บรรทัดฐานของการยอมรับวัฒนธรรมมากกว่าเดิม และผู้คนที่ไม่นิยมอาหารต่างชาติ หรืออาหารไทย ย่อมไม่รู้จัก pad thai แม้จะถูกรวมไว้ในพจนานุกรมแล้วก็ตาม. . . การที่เมนูในร้านอาหาร นิยมใช้ตัวนำ เพราะเป็นการใช้ในลักษณะ headline เพื่อให้เกิดความเด่น มองเห็นได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here