เสียงร้องโหยหาเว้าวอน อยากให้ ประธานาธิบดีไบเดนมาร่วมประชุม APEC โดยให้ความเห็นว่า ปธน. สหรัฐฯ ไม่มาแล้วงานจะกร่อย สะท้อนทัศนะที่ให้ความสำคัญต่อ สหรัฐฯ หรือ ปธน. ไบเดน ดั่งเป็นพระเจ้า หรือเป็นผู้บังเกิดเกล้า
ถ้าติดตามอะไรบ้างก็จะพอรู้ว่า ปธน. ไบเดน มีปัญหาสุขภาพอย่างชัดเจน การเดินทางไกลแต่ละครั้ง ต้องเตรียมการมากมายในด้านการดูแลสุขภาพ และการอารักขาในฐานะผู้นำของโลก
อีกทั้งสหรัฐฯ เป็นสมาชิก APEC อย่างไรก็ส่งตัวแทนมาแน่นอน
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 มีการประชุมผู้แทนการค้าเอเปคในกรุงเทพ มีตัวแทนบางประเทศเดินออกจากการประชุม เพื่อแสดงการประท้วงที่รัสเชียบุกยูเครน แต่ตัวแทนการประชุมยังยืนยันว่าสนับสนุนเอเปคและประเทศไทยเจ้าภาพ
ถ้าเราจัดงานแล้วแขกไม่มาร่วมงาน แต่ส่งตัวแทนมา เราจะเศร้าใจอาลัยอาวรณ์แค่ไหน งานประชุม ไม่ใช่งานแต่งงานหรืองานศพ ที่อาจสงสัยว่า เหตุใดเพื่อนสนิทไม่ปรากฎตัว
ทั้งโลกรับรู้เรื่องสุขภาพทางร่างกายและสมองของ ปธน. ไบเดน เป็นอย่างดี ผ่านหลักฐานที่เป็นวิดิโอคลิป และประเด็นเรื่องพฤติกรรมของไบเดน เช่นการเข้าถึงเนื้อถึงตัวเพศหญิงและเด็กจนเกินงาม เหมือนควบคุมตัวเองไม่ได้ การหลงทิศหาทางลงจากเวทีหลังปราศรัยไม่ได้หลายครั้ง การสะดุดล้มที่บันไดขึ้นเครื่องบิน การล้มลงไปกองกับพื้นเมื่อปั่นจักรยาน และ ฯลฯ

การโหยหาไบเดน และให้ความสำคัญจนเกินเหตุ เพื่อจะสะท้อนว่า สหรัฐฯ ไม่ยอมรับสถานภาพของประเทศไทยนั้น เป็นการบ่งบอกจิตใจอันเป็นทาส แต่มักชอบออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียม มองข้ามองค์ประชุมและประเทศสมาชิก ที่ผู้นำทุกคนล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน เพราะเป็นเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศเอเชีย-แปซิฟิค ไปด้วยกัน
APEC 2022 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แอนโธนี อัลเบนีส,ประธานาธิบดีชิลี กาเบรียล บอริค, ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซุก โยล, ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ บองบอง มาร์กอส และผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง จอห์น ลี จะเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกในช่วงต้นปี และกลางปี 2022
การเตรียมงาน APEC 2022 ดำเนินงานกันมาข้ามปี โดยมีการประชุมรัฐมนตรี การประชุมการค้า การสัมมนา เจรจาเตรียมการ และเตรียมความพร้อม ฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพ ที่จะต้องสร้างความประทับใจให้กับประเทศสมาชิกเอเปค รวมทั้งการเสนอหัวข้อ การนำเสนอเนื้อหาที่จะนำไปสู่ความร่วมมือระดับโลก และการพัฒนาที่จับจ้องได้และเกิดประโยชน์ร่วมกัน ฝ่ายประเทศสมาชิกก็ต้องพร้อมในการเสนอข้อมูล และขอเสนอแนะต่างๆ

ไม่มีใครอาวรณ์ การไม่ปรากฎตัวของผู้นำประเทศใด เพราะ APEC ไม่ใช่การไปนั่งเฝ้านอนเฝ้าศิลปินในดวงใจจากประเทศเอเชีย-แปซิฟิค
ประธานาธิบดีที่แจ้งว่าจะไม่เข้าร่วมงานครั้งนี้ คือ ปธน. อังเดร มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ แห่งเม็กซิโก แต่ได้แต่งตั้งให้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเป็นตัวแทน เช่นเดียวกับการประชุมในครั้งก่อน
ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่เข้าร่วมประชุมออนไลน์เมื่อปี 2020 และ 2021 เพราะสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศรุนแรง จะเข้าร่วมประชุมเอเปคในครั้งนี้ ได้แก่นายกรัฐมนตรีปาปัว นิวกินี, นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
เขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกของ APEC (ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก Asia-Pacific Economic Cooperation) ได้แก่:
Australia, Brunei, Canada, Chile, China, Hong Kong, Indonesia, Japan, South Korea, Malaysia, Mexico, New Zealand, Papua New Guinea, Peru, Philippines, Russia, Singapore, Taiwan, Thailand, United States, Vietnam
การประชุม ASEAN ที่พัทยา เมื่อปี 2009 ถูกทำลายด้วยผู้ชุมนุมป่าเถื่อน สร้างความหวาดกลัว และทัศนะทางลบต่อประเทศไทย กลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ได้รักษาหน้า หรือชื่อเสียงของประเทศไทยแม้แต่น้อย ต้องการแสดงพลังนอกเหนือขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้มีความรักชาติ หรือเห็นผลประโยชน์ของคนไทยแต่อย่างใด
ถ้าอยากเห็นประเทศไทย ยืนเคียงข้างอารยประเทศทั่วโลกอย่างสง่างาม ต้องปรับทัศนคติให้ได้ ว่างานประชุมสุดยอดเอเปคที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 3 นี้ เป็นปรากฎการณ์สำคัญ อันจะนำมาซึ่งศักดิ์ศรีของประเทศ และผลลัพท์จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่คนไทย
การนั่งเฝ้าเว้าวอน การมาของ ปธน. ไบเดน คือการนั่งมองเหม่อ ของคนที่ไม่เคยลงมือทำ

หมายเหตุ: คำศัพท์ในการใช้เรียกประเทศและเขตบริหาร ในกลุ่มเศรษฐกิจ เรียกภาษาอังกฤษว่า economy และใช้ภาษาไทยเป็นทางการว่า “เขตเศรษฐกิจ”