#เครื่องแบบนักเรียน #schooluniform #ปัจเจกบุคคล
มีกระแสจากผู้คนทุกเจนเนอเรชั่น มาพูดเรื่องเครื่องแบบนักเรียน ว่าเป็นเรื่อง “หัวโบราณ” ที่ไม่ได้ช่วยให้ประเทศก้าวหน้า
การจะมองว่าเครื่องแบบนักเรียน เป็นเรื่อง โบราณ หรือ “เป็นสากล” นั้นมันเป็นมุมมองส่วนตัว ไม่มีตรรกะ เพราะโรงเรียนในอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น ก็มีโรงเรียนใส่เครื่องแบบอยู่ทั่วไป ประเทศดังกล่าวเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้ากว่าประเทศไทย ยกประโยชน์ให้เครื่องแบบนักเรียนเลยได้ไหม?
.
คนที่ไม่ทราบ จดจำเอาจากหนังหรือซีรีส์ คงไม่ทราบว่าในอเมริกา มีโรงเรียนที่บังคับให้ใส่ยูนิฟอร์มโรงเรียน และบังคับให้ใส่จนจบมัธยมปลาย เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครต้องมาสร้างประเด็นว่า ใส่ยูนิฟอร์มทำไม โรงเรียนที่บังคับยูนิฟอร์มเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชน ส่วนโรงเรียนของรัฐ มักให้แต่กายด้วยชุดประจำวันทั่วไป ทั้งนี้เพราะยูนิฟอร์มของฝรั่ง ไม่ใช่แค่เสื้อขาว กางเกงกระโปรงสีดำ กากี หรือกรมท่า แต่เป็นผ้ากระโปรงลายเฉพาะ เนคไทลายเฉพาะ ผ้ากางเกงสีเฉพาะ ไปหาซื้อทั่วไปไม่ได้ ราคาค่อนข้างแพง เมื่ออากาศหนาวขึ้น เสื้อกั๊ก หรือสเวตเตอร์ ก็ต้องเป็นยูนิฟอร์ม ทั้งสีและสไตล์

แต่นักเรียนในโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ มาจากครอบครัวมีฐานะ ขอให้เข้าเรียนโรงเรียนดีๆ ได้ เรื่องเงินไม่มีปัญหา พ่อแม่จัดให้ได้ อีกทั้งจะไปไหนต่อไหน ผู้คนในรัฐก็รู้ว่า เป็นเด็กจากโรงเรียนมีระดับ นักเรียนก็ภูมิใจในยูนิฟอร์ม
ส่วนโรงเรียนของรัฐบริหารโดยงบประมาณของรัฐ เป็นของคนทั่วไป ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง ฝ่ายบริหารการศึกษาของรัฐ ต้องการช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องแต่งกายให้กับผู้ปกครองฐานะปานกลางและระดับล่าง จึงไม่บังคับยูนิฟอร์ม
แม้ว่าโรงเรียนรัฐจะให้แต่งชุดทั่วไป ที่เรียกว่า everyday clothing ก็ยังมีกฎระเบียบหลายข้อ ที่บังคับความเรียบร้อยของเสื้อผ้าที่ใส่ แต่ละโรงเรียนก็มีข้อบังคับต่างกัน เช่น ห้ามนุ่งกระโปรงสั้น ห้ามใส่ทีเชิร์ตที่มีคำพูดหยาบคาย หรือภาพล่อแหลม บางโรงเรียนห้ามใส่หมวกภายในบริเวณโรงเรียน และมีกำหนดเรื่องรองเท้าที่ใส่มาโรงเรียน
ความคิดที่แตกต่างเรื่องการใส่ยูนิฟอร์ม ระหว่างโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาลของเมืองไทยคือ โรงเรียนไทยเห็นว่า การใส่ยูนิฟอร์ม ช่วยให้ประหยัด มีเพียง 2 ชุด ก็เพียงพอ แม้จะต้องขยันซัก แต่เมืองไทยแดดแรง ซักผ้าตากผ้า ไม่กี่ชั่วโมงก็มีชุดพร้อมใส่ สมัยก่อน การรีดผ้าเป็นสิ่งที่เป็นมาตรฐาน นักเรียนส่วนใหญ่ใส่เสื้อผ้าที่รีดเรียบมาโรงเรียน ยกเว้นกรณีที่ทางบ้านยากจนมาก เด็กต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน จึงมีนักเรียนที่ใส่เสื้อผ้าที่ไม่รีดมาโรงเรียนให้เห็นบ้าง
ถ้าใส่เสื้อผ้าไปรเวท มี 2 ชุด ก็จะเป็นที่สังเกตของเพื่อน อาจถูกล้อและทำให้อาย เพราะสะท้อนไปถึงฐานะทางบ้าน
ในปัจจุบัน ยูนิฟอร์ม ช่วยลดการแข่งขันในเรื่องอวดฐานะได้ เพราะทุกคนแต่งกายเท่าเทียมกันหมด ใครที่อยากอวดรวย ก็ไปอวดโทรศัพท์มือถือ ปากกา สมุดและกระเป๋าแทน
แต่ในเมืองนอก การใส่เสื้อผ้าไปรเวท ช่วยให้ประหยัดได้มากกว่า ดังที่อธิบายแล้วว่า ยูนิฟอร์มของโรงเรียนเอกชน ต้องใช้เงินมาก ต้องซื้อจากผู้ผลิตที่โรงเรียนคัดเลือกไว้ให้ ต้องสั่งทอผ้าขึ้นเป็นพิเศษ
.
โรงเรียนฝรั่งที่ห้ามการย้อมสีผม หรือตัดผมทรงประหลาดเช่นโมฮอว์ค หรือทรงผมกรีดลาย เพื่อลดพฤติกรรมที่ลดความสิ้นเปลือง หรือทำให้เพื่อนร่วมชั้นเสียสมาธิ
.
ในอเมริกา ก็มีประเด็นเรื่องเสรีภาพทางการแต่งกายไปโรงเรียนเช่นกัน มีตลอดมาทุกยุค แต่ไม่เคยเป็นประเด็นระดับชาติ จนมีการเคลื่อนไหวต่อต้าน หรือเป็นประเด็นให้โลกโชเชียลนำมาถกเถียงกันเอาเป็นเอาตาย
.
เรื่องเสรีภาพในการแต่งกาย จะเชื่อมโยงไปเรื่อง ความเป็นปัจเจกบุคคล (individualism) แต่สังคมตะวันตก ผู้คนส่วนมาก ไม่ว่าวัยไหน มีความเป็นตัวของตัวเองมาก และพัฒนาความเป็น individual มาตลอดช่วงการเติบโต ดังนั้นแม้จะเรียนโรงเรียนเอกชน และต้องใส่ยูนิฟอร์ม ทุกคนก็ยังมีความคิดอ่าน อุปนิสัย และรสนิยมที่เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ โดยแสดงออกผ่าน การพูด การเขียน และบุคลิกที่เป็น “อินดี้” ไม่ต้องแสดงออกด้วยเสื้อผ้าหน้าผม ไม่มีใครออกมาอ้างถึง “อำนาจนิยม” เพราะหากฎระเบียบในโรงเรียนถือว่าเป็นลักษณะอำนาจนิยม ตนเองเป็นผู้สมัครใจเข้ามาเอง ต้องรับผิดชอบทางเลือกของตนเองด้วย
.
ด้วยความเป็นปัจเจกบุคคล โดยธรรมชาติของผู้คนในสังคมตะวันตก การที่ใครจะยกเรื่อง “ความเป็นปัจเจก” มาโต้แย้ง จึงเป็นเรื่องเชย และทำให้คนเหลือบตามองบน วนเป็นเลขแปด ในขณะที่สังคมเอเซียและสังคมไทย นิยมการทำตามคนหมู่มาก (collectivism) แม้กระทั่งเรื่องรสนิยม ทั้งการแต่งกายแนวเดียวกัน ชอบนักร้องนักแสดงเกาหลีตามๆ กัน ชอบผู้หญิงขาวหมวย ขอบผู้ชายสไตล์หน้าตี๋เกาหลีหน้าหวาน เหมือนกันหมด ใครชอบคนอ้วน ชอบคนผิวคล้ำ เพื่อนก็จะเบ้ปากใส่ ทัศนะเช่นนี้ จึงทำให้เรื่องเป็นปัจเจก กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่จะเอามาโต้แย้ง ทั้งๆ ที่ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ละเมิดกฎหมาย กฎระเบียบ และสิทธิของผู้อื่น
.
การโต้แย้งว่า นักเรียนในประเทศอื่น ที่ไม่ใช่ยูนิฟอร์ม ก็สร้างความเจริญให้กับชาติของเขาได้นั้น ต้องการจะสื่อว่า เครื่องแบบนักเรียนไม่เกี่ยวกับศักยภาพและความสามารถในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ไม่มีอะไรต้องแย้ง เพราะปรัชญาชีวิตสากลในทุกวัฒนธรรมสอนว่า “อย่าตัดสินด้วยเปลือกนอก” หรือ “อย่าตัดสินหนังสือด้วยการดูแค่ปก”
แต่การใส่ยูนิฟอร์ม ก็มีปรัชญาและจุดประสงค์ที่ชัดเจน เช่นช่วยครอบครัวประหยัด เป็นการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาในโรงเรียน ช่วยให้สังคมเป็นหูเป็นตาให้กับเยาวชน และที่สำคัญยิ่ง คือเป็นการฝึกวินัยในการอยู่ร่วมกัน สร้างความเป็นเอกภาพ
.
แต่ถ้าจะถามว่า แล้วนักเรียนที่ใส่เครื่องแบบ ถูกลดทอนความสามารถทางการเรียนรู้หรือไม่ อะไรคือคำตอบ?
.

โรงเรียนมีระดับในต่างประเทศ ผลิตนักเรียนที่มุ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลก ตั้งแต่อยู่มัธยมต้น บุคคลที่มีชื่อเสียงมากมายมาจากโรงเรียนเหล่านี้ เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวี่ลีก อ็อกซ์ฟอร์ด จบแล้วได้ทำงานที่ปรารถนา เป็นระดับมันสมองของชาติ และโลกธุรกิจ โดยไม่เคยบ่นว่า ยูนิฟอร์มจำกัดความสามารถในวัยเรียนของพวกเขา
.
นักเรียนไทยใส่เครื่องแบบมาตลอด นักเรียนที่เรียนในเครื่องแบบก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยมีระดับได้ เรียนศาสตร์ต่างๆ จนจบและเรียนต่อในสถาบันอันโด่งดังได้ทั่วโลก เมืองไทยผลิตแพทย์ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ และทุกอาชีพที่เป็นเฟืองขับเคลื่อนประเทศ ให้เจริญก้าวหน้า แข่งขันได้ในระดับโลก และโดดเด่นในภูมิภาค ผู้คนทุกอาชีพไม่ว่าเรียนจบจากโรงเรียนใด ใส่เครื่องแบบไปเรียนหนังสือตั้งแต่เด็กจนจบมัธยม ไม่มีใครอ้างว่า ถ้าไม่ใส่เครื่องแบบจะเป็นมนุษย์ที่เก่งกว่าที่เป็นอยู่ หรือ “นี่ถ้าไม่ใส่ชุดนักเรียนคงสอบเข้าได้สูงกว่าคณะแพทยศาสตร์”
.
ไม่ว่าจะเป็นยูนิฟอร์มนักเรียน กิจกรรมหรือกฎระเบียบต่างๆ ของโรงเรียน ล้วนเป็นขั้นตอนของการเติบโต เป็นการสอนให้สามารถอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีวินัย เพื่อให้ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ เคารพซึ่งกันและกัน
.
นักเรียนส่วนใหญ่ที่ไม่นึกถึงแต่ตนเอง ย่อมตระหนักว่า กฎระเบียบที่ไม่ชอบเหล่านี้ จะผ่านพ้นไป เมื่อเรียนจบ และจะได้รับอิสรภาพมากขึ้นเป็นระดับ
.
ผู้ใหญ่ที่ประกอบอาชีพ และเลือกงานที่ต้องใส่ยูนิฟอร์ม ก็ไม่เชื่อมโยงการใส่ยูนิฟอร์ม ว่าเป็นอำนาจนิยม เพราะยูนิฟอร์ม สะท้อนความสำเร็จของตนเอง มีความภูมิใจที่เป็นสุจริตชน พยาบาลใส่ชุดพยาบาล ตำรวจใส่เครื่องแบบ เพื่อให้รู้ว่าตนมีหน้าที่อะไร เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ โดยไม่รู้สึกสูญเสียความเป็นปัจเจกบุคคล หรือตกอยู่ภายใต้ลัทธิอำนาจนิยม
.
ความคิดในแนว post modernism, individualism, feminism และ authoritarianism หรือการเห็นระเบียบวินัยเป็นอำนาจนิยม เป็นสิ่งที่นักวิชาการชอบนำมาเสนอ และเป็นหัวข้อที่เชย เพราะสังคมปัจจุบัน เลยไปถึงสังคมที่พยายามปรับทัศนะรวมของสังคม ให้มองทะลุเปลือกว่า มนุษย์เราเท่าเทียมกันด้วยสำนึกและทัศนะ ไม่ว่าจะสีผิว ดำ เหลือง ขาว รูปตากลมหรือเรียว ใส่เสื้อผ้าแต่งตัวอย่างไร ยากจนหรือรวย พูดมีสำเนียงแตกต่างอย่างไร หรือเลือกเพศตัวเองอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องก้าวข้ามให้ได้ ส่วนการรักษาวินัยนั้น เป็นสิ่งที่ทุกสังคมในโลก รณรงค์ตลอดมา และประเทศที่ฝึกวินัยกันได้สำเร็จ ก็เริ่มต้นกันตั้งแต่วัยเด็ก
**